ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงกุนซือ, ยูโรเปี้ยน​ ซูเปอร์ลีก, คริสเตียน เอริคเซน, วิกฤตที่ บาร์เซโลนา: บทสรุปโลกฟุตบอลปี 2021

โอเล กุนนาร์ โซลชา-แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก, กรณี คริสเตียน เอริคเซน กับทีมชาติเดนมาร์ก, ลิโอเนล เมสซี-บาร์เซโลนา
โอเล กุนนาร์ โซลชา-แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก, กรณี คริสเตียน เอริคเซน กับทีมชาติเดนมาร์ก, ลิโอเนล เมสซี-บาร์เซโลนา /
facebooktwitterreddit

2021 นับเป็นอีกปีที่โลกฟุตบอลเต็มไปด้วยอรรถรสมากมายเช่นเคย ลูกหนังในยุโรปทยอยฟื้นคืนจากภาวะการแพร่ระบาดของ โควิด-19 และพยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้เกมที่คนทั้งโลกเฝ้ารอคอยได้ไปต่อในสถานการณ์เช่นนี้

ท่ามกลางความหดหู่ สิ้นหวัง ฟุตบอลคอยปลอบประโลมแม้บางคราวมันจะยิ่งทำให้เราเจ็บปวดแต่นั่นก็เพื่อการเรียนรู้ที่จะก้าวข้ามความผิดหวังและรีดเค้นศักยภาพให้ดียิ่งขี้นกว่าเดิม

ฟุตบอลได้เยียวยาเราและเราเชื่อว่าฟุตบอลก็ได้เยียวยาคุณด้วยเช่นกัน

แด่ฟุตบอลในปี 2021


การเปลี่ยนแปลงกุนซือบิ๊กเนม

โธมัส ทูเคิล - เชลซี, ชาบี เอร์นันเดซ - บาร์เซโลนา, อันโตนิโอ คอนเต้ - สเปอร์ส, ราล์ฟ รังนิค - แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และ สตีเวน เจอร์ราร์ด - ลิเวอร์พูล
โธมัส ทูเคิล - เชลซี, ชาบี เอร์นันเดซ - บาร์เซโลนา, อันโตนิโอ คอนเต้ - สเปอร์ส, ราล์ฟ รังนิค - แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และ สตีเวน เจอร์ราร์ด - ลิเวอร์พูล /

เมื่อพื้นที่แห่งความผิดหวังและพ่ายแพ้ในโลกของฟุตบอลถูกกระชับให้แคบลงเรื่อยๆ มีเพียงผู้ชนะเท่านั้นที่จะได้ไปต่อ และการเปลี่ยนแปลงที่ง่ายที่สุดท่ามกลางวิกฤตคือคนในตำแหน่งผู้จัดการทีมหรือเฮดโค้ช

ในปี 2021 เราได้เห็นการเปลี่ยนเปลงกุนซือระดับบิ๊กเนมหลายรายโดยไฮไลท์อยู่ที่ 5 นายใหญ่ได้แก่

  • โธมัส ทูเคิล กับ เชลซี ให้หลังจากที่ สิงห์บลู ทุ่มทุนซิวแข้งบิ๊กเนมอย่าง ฮาคิม ซิเยค, ติโม แวร์เนอร์, เบน ชิลเวลล์, ไค ฮาแวร์ตซ์ และ เอดูอาร์ เมนดี้ มาในซัมเมอร์ 2020 ด้วยมูลค่าแตะหลัก 200 ล้านปอนด์ พวกเขาออกสตาร์ทช่วงต้นซีซันอย่างแข็งแกร่งก่อนจะฟอร์มรูดหล่นไปรั้งอันดับที่ 9 บนตาราง พรีเมียร์ลีก ตามด้วยการปลด แลมพ์ และคว้าตัว โธมัส ทูเคิล ที่เพิ่งว่างงานหลังแยกทางกับ ปารีส แซงต์-แชร์กแมง เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2020 แทนที่ ซึ่งท้ายที่สุดกลายเป็นกุนซือชาว เยอรมัน รายนี้ที่พาทีมซิวแชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก 2020/21
  • ชาบี เอร์นันเดซ กับ บาร์เซโลนา วิกฤตการเงินที่รุมเร้าทัพ อาซูลกรานา ทำให้พวกเขาไม่อาจเดิหน้าแยกทางกับ โรนัลด์ คูมัน ได้อย่างเด็ดขาดนัก กระทั่งฟางเส้นสุดท้ายในเกมพ่าย ราโย บาเยกาโน 1-0 ในเดือนตุลาคมที่ทำให้ชะตาของกุนซือชาว ดัตช์ ขาดผึง ก่อนที่พวกเขาจะปิดดีลคว้าตันอดีตกองกลังระดับตำนานของสโมสรอย่าง ชาบี เอร์นันเดซ ซึ่งทำหน้าที่คุมทัพ อัล ซาดด์ ใน กาตาร์ เข้ามารับตำแหน่งแทนที่
  • อันโตนิโอ คอนเต้ กับ สเปอร์ส ทัพ ไก่เดือยทอง ออกสตาร์ทฤดูกาล 2021/22 ด้วยชัยชนะ 3 นัดรวดบน พรีเมียร์ลีก ภายใต้การคุมทัพของ นูโน ซานโต้ ผลงานดังกล่าวทำให้อดีตกุนซือ วูล์ฟส์ คว้ารางวัลผู้จัดการทีมยอดเยี่ยมประจำเดือนสิงหาคม แต่ให้หลังจากนั้นเพียง 3 เดือนเขาก็กลายเป็นอดีตกับพลพรรค ลิลลีไวทส์ ก่อนที่ อันโตนิโอ คอนเต้ จะเข้ามารับบทหัวเรือใหญ่คนใหม่ให้ทีมแห่ง ลอนดอน
  • ราล์ฟ รังนิค กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ปีศาจแดง เริ่มต้นซีซันใหม่ด้วยความหวังหลังจรดปากกาขยายสัญญากับ โอเล กุนนาร์ โซลชา ไปจนถึงปี 2024 พร้อมกับการปิดดีลคว้าตัว คริสเตียโน โรนัลโด้, ราฟาเอล วาราน และ เจดอน ซานโช มาได้ในช่วงซัมเมอร์ แต่ผลงานของพวกเขากลับไม่เป็นไปอย่างที่คาดการณ์จนนำมาสู่การแยกทางด้วยดีระหว่าง เร้ดเดวิลส์ กับ โอเล่ ในเดือนพฤศจิกายน ก่อนที่พวกเขาจะซิวตัว รังนิค นั่งแท่นนายใหญ่รักษาการพ่วงสัญญาที่ปรึกษาอีก 2 ปี
  • สตีเวน เจอร์ราร์ด กับ แอสตัน วิลลา อดีตนักเตะตำนาน สโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูล ที่เหล่า เดอะค็อป ต่างเก็งว่าจะเป็นทายาทของ เยอร์เก้น คล็อปป์ แห่งถิ่น แอนฟิลด์ ในอนาคต โดยให้หลังจากที่ สตีวี่จี สร้างประวัติศาตร์พา เรนเจอร์ส คว้าแชมป์ลีก สกอตแลนด์ แบบไร้พ่าย นับเป็นแชมป์ลีกสูงสุดครั้งแรกในรอบ 10 ปี เจ้าตัวก็โบยบินสู่ฟุตบอลในระดับที่สูงกว่าเดิมใน พรีเมียร์ลีก กับสถานะผู้จัดการทีมของทัพ สิงห์ผยอง แทนที่ ดีน สมิธ ในเดือนพฤศจิกายน

การเกิดขึ้นและล่มสลายอย่างรวดเร็วของ ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก

Fans Respond To News Of Football Super League
Fans Respond To News Of Football Super League / Rob Pinney/GettyImages

ระเบิดในวงการฟุตบอลลูกใหญ่ถูกทิ้งลงมาในเดือนวันที่ 18 เมษายนจากการประกาศจัดตั้งทัวร์นาเมนต์ใหม่ ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก แยกตัวเป็นเอกเทศจากการควบคุมของ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) และ สหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) เพื่อผลตอบแทนของแต่ละสโมสรที่เข้าร่วมในระดับทวีคูณ

รายการดังกล่าวนำโดย ฟลอเรนติโน เปเรซ ประธานสโมสร เรอัล มาดริด นั่งแท่นผู้บริหารโดยมี อันเดรีย อัญเนลลี (ยูเวนตุส), โจเอล เกลเซอร์ (แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด), จอห์น ดับเบิลยู เฮนรี (ลิเวอร์พูล) และ สแตน โครเอ็นเก้ (อาร์เซนอล) ในตำแหน่งรองประธาน อีเอสแอล โดยมีโครงสร้างการแข่งขันอันมีทีมทั้งหมด 18-20 ทีมเข้าร่วม แบ่งลีกออกเป็น 2 สาย สายละเท่าๆ กัน แต่ละลีกแข่งขันกันแบบพบกันหมด เหย้า-เยือน และนำ 4 อันดับแรกของแต่ละกลุ่มไขว้แข่งขันกันในรอบรองชนะเลิศเพื่อหาผู้ชนะต่อไป

สโมสรที่อยู่ในแถลงการณ์เข้าร่วมการแข่งขัน ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก ได้แก่ อาร์เซนอล, เชลซี, ลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์, อินเตอร์ มิลาน, ยูเวนตุส, เอซี มิลาน, แอตเลติโก มาดริด, บาร์เซโลนา และ เรอัล มาดริด

การเข้าร่วมรายการที่มีโปรแกรมแข่งขันในช่วงกลางสัปดาห์ที่คาบเกี่ยวกับ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก และ ยูโรปาลีก ทำให้ทีมเหล่านั้นเท่ากับโบกมือลารายการของ ยูฟ่า ไปโดยปริยาย นั่นหมายความว่าตำแหน่งบนตารางคะแนนที่พวกเขาทำได้ของลีกภายในประเทศตนเองไม่มีความหมายในเชิงการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเกียติยศบนเวทียุโรปอีกต่อไป ซึ่งประเด็นดังกล่าวก็สร้างความไม่พอใจให้กับทั้งแฟนบอลและ ยูฟ่า

เหล่าคอลูกหนังโดยเฉพาะทีมบิ๊กซิกซ์ใน อังกฤษ ก่อหวอดแสดงความไม่พอใจด้วยการรวมตัวกันชูป้ายประท้วงการตัดสินใจเข้าร่วม ซูเปอร์ลีก จนนำมาสู่การแถลงการณ์ถอนตัวโดยสโมสรในที่สุดนำโดย แมนฯ ซิตี้ เป็นทีมแรก ตามด้วยทุกทีมใน พรีเมียร์ลีก และ แอตฯ มาดริด, อินเตอร์ และ มิลาน ในวันเดียวกัน เหลือเพียง ยูเวนตุส, บาร์เซโลนา และ เรอัล มาดริด ที่สงวนท่าที

ให้หลังจากกระแสต่อต้านที่ท่วมท้น หลังจากประกาศจัดตั้งรายการดังกล่าวได้เพียงแค่ 4 วัน ฝั่ง ซูเปอร์ลีก ก็ออกแถลงการณ์เข้าเกียร์ถอยหลัง พร้อมทบทวนไอเดียที่ว่าใหม่อีกครั้ง แต่ท่าทีของ เปเรซ และพรรคพวกเห็นได้ชัดว่าเป็นการยุติชั่วคราวเพื่อรอเวลาทิ้งระเบิดลูกใหม่อีกครั้งในอนาคต หากผลตอบแทนจากการแข่งขันในปัจจุบันไม่ตอบโจทย์พวกเขา


ลีลล์ คว้าแชมป์ ลีกเอิง ฝรั่งเศส 2020/21

Jose Fonte
Lille OSC And Fans Celebrate After Winning The Ligue 1 Title / Sylvain Lefevre/GettyImages

นับเป็นปีครบรอบ 1 ทษวรรษพอดิบพอดีที่ ลีลล์ คว้าตำแหน่งแชมป์ ลีกเอิง ครั้งสุดท้ายเมื่อฤดูกาล 2010/11 นานขนาดที่เราแทบลืมไปแล้วว่าแข้งอย่าง ลูกาส์ ดีญ, อิดริสซา เกย์, ดิมิทรี ปาเยต และ เอแด็น อาซาร์ สร้างชื่อมาจากทีมชุดดังกล่าว

นับเป็นการเสียแชมป์ ลีกเอิง เป็นครั้งแรกของ ปารีส แซงต์-แชร์กแมง นับตั้งแต่ปี 2017 ที่ซึ่ง โมนาโก ชุดที่มี คิลิยัน เอ็มบัปเป้ เข้าป้ายเป็นแชมป์ลีก

ลีลล์ ภายใต้การคุมทัพของ คริสตอฟ กัลติเยร์ ไร้พ่ายเมื่อดวลกับบิ๊กทีมอย่าง เปแอสเช, ลียง และ โมนาโก ในลีก รวมไปถึงทำลายสถิติในการเก็บแต้มจากการเล่นเป็นทีมเยือนที่ 43 คะแนน และเสียประตูไปเพียง 22 ลูก น้อยกว่าแชมป์ลีกประเทศอื่นอย่าง แมนฯ ซิตี้, บาเยิร์น มิวนิค กระทั่ง อินเตอร์ มิลาน

นักเตะชูโรงที่พา ลีลล์ กรุยทางสู่ความสำเร็จดังกล่าวได้แก่ ไมค์ เมญ็อง นายด่านวัย 26 ปีที่ในเวลาต่อมาถูก เอซี มิลาน ซิวตัวไปร่วมทัพด้วยมูลค่าราว 10 ล้านปอนด์, คู่เซ็นเตอร์แบ็คต่างวัย โชเซ ฟอนเต้ (37 ปี) กับ สเวน บ็อตแมน (21 ปี), กัปตันทีม แบงฌาแม็ง อองเดร, ดาวรุ่งที่แดนกลาง บูบาการี ซูมาเร กับ เรนาโต้ ซานเชส และ บูรัค ยิลมาซ กองหน้าวัย 35 ปีที่ระเบิดฟอร์มตะบัน 16 ประตูในเกมลีกในฤดูกาลนั้น


กรณี คริสเตียน เอริคเซน หมดสติใน ยูโร 2020

TOPSHOT-FBL-EURO-2020-2021-MATCH03-DEN-FIN
TOPSHOT-FBL-EURO-2020-2021-MATCH03-DEN-FIN / WOLFGANG RATTAY/GettyImages

ให้หลังจากการเลื่อนทัวร์นาเมนต์ ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป รอบสุดท้ายที่ควรจะเกิดขึ้นในปี 2020 มาเป็น 2021 แฟนบอลต่างเฝ้ารอรายการดังกล่าวมา 1 ปีเต็มๆ จากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก

สำหรับ เดนมาร์ก พวกเขาเฝ้ารอมา 9 ปีเต็มเมื่อครั้งก่อนหน้านี้ที่พวกเขาสามารถผ่านเข้ามาเล่นในรอบสุดท้ายได้คือ ยูโร 2012 ที่ โปแลนด์ และ ยูเครน รับหน้าเสื่อเจ้าภาพ พลพรรค โคนม มีโปรแกรมหลังแมตช์เปิดสนาม 1 วันโดยเป็นการดวลกับ ฟินแลนด์ ที่สนาม พาร์เคน ในประเทศของพวกเขา

เกมดำเนินไปอย่างปกติและธรรมดาอย่างที่สุด เหมือนกับการแข่งขันฟุตบอลนัดอื่นๆ กระทั่งนาทีที่ 43 ผลแพ้ชนะและการดวลกันในสนามก็ไม่สำคัญอีกต่อไป

เดนมาร์ก ได้ทุ่มที่ริมเส้นฝั่งซ้าย คริสเตียน เอริคเซน จอมทัพหมายเลข 10 ของทีมวิ่งเข้าไปรับบอลจากการทุ่ม แต่กลายเป็นว่าเขากลับล้มลงและนอนแน่นิ่งท่ามกลางความงุนงงของเพื่อนร่วมทีม คู่แข่ง แฟนบอล และผู้ชมผ่านทางหน้าจอโทรทัศน์ แต่ไม่กี่อึดใจทุกคนก็ตระหนักถึงความผิดปกติอย่างรุนแรง

แข้ง แดนิช นำโดย ซิมอน เคียร์ วิ่งทะยานเข้าไปปฐมพยายาลเบื้องต้น ก่อนที่แพทย์ของทีมและเจ้าหน้าที่แพทย์สนามจะตามเข้ามาสมทบโดยข้อมูลจากแพทย์ในภายหลังได้เปิดเผยว่าหัวใจของ เอริคเซน ได้หยุดเต้นลงไปเป็นที่เรียบร้อย แต่การกู้ชีวิตด้วยเครื่องกระตุ้นหัวใจไฟฟ้าอย่างรวดเร็วทำให้ไม่เกิดการสูญเสียไปมากกว่านี้

ภาพของเหล่าเพื่อนร่วมทีม เอริคเซน ยืนล้อมวงเพื่อปกป้องสิทธิความเป็นส่วนตัวระหว่างกระบวนการกู้ชีพกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของแข้ง เดนมาร์ก แม้ว่าพวกเขาต่างตื่นตระหนกไม่ต่างจากเราก็ตาม


วิกฤตการเงินที่ บาร์เซโลนา

In this photo illustration the Spanish professional football...
In this photo illustration the Spanish professional football... / SOPA Images/GettyImages

ท่ามกลางความสำเร็จมากมายและโครงสร้างของสโมสรที่คนนอกมองเข้าไปดูแข็งแกร่ง มั่นคง กลับกลายเป็นว่า บาร์เซโลนา ไม่ได้เป็นอย่างภาพสะท้อนจากภายนอกเลยแม้แต่น้อย

ความมั่นคงทางการเงินของพลพรรค อาซูลกรานา อยู่ในประเด็นมาตั้งแต่ปี 2020 ก่อนที่ทุกอย่างจะปะทุเอาในปีนี้ และเพื่อความสมบูรณ์ของลำดับเหตุการณ์ตามเวลา นี่คือบทสรุปจนถึงเวลานี้ของเหตุการณ์ดังกล่าว

  • ก่อนหน้าโควิดระบาด บาร์เซโลนา คงสถานะเป็นหนึ่งในสโมสรฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ความสำเร็จที่พวกเขาคว้ามาได้อย่างต่อเนื่องดึงดูดสตาร์ดังทั่วโลกและการทุ่มเงินประเคนค่าเหนื่อยกับข้อเสนอซื้อตัวก้อนโตไม่เคยเป็นปัญหาสำหรับพวกเขาในช่วงนี้ ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการตั้งคำถามกับดีลมหาศาลร่วม 100 ล้านปอนด์กับแข้งอย่าง อุสมาน เดมเบเล หรือ ฟิลิปเป้ คูตินโญ กระทั่งพวกเขาไม่อาจเค้นฟอร์มออกมาได้เทียบเท่ากับมูลค่าที่ทีมจ่าย ไปจนถึงยื่นค่าเหนื่อยก้อนโตให้กับนักเตะปลายอาชีพค้าแข้งและเหล่าสมาชิกในทีมที่ไม่ได้ลงเล่นอย่างสม่ำเสมอ
Luis Suarez
Real Valladolid CF v Atletico de Madrid - La Liga Santander / Angel Martinez/GettyImages
  • การลดค่าเหนื่อยและตลาดซัมเมอร์ก่อน โควิดที่เริ่มแพร่ระบาดตั้งแต่เมื่อปีก่อนส่งผลกระทบต่อรายได้ของ บาร์ซา จนทำให้ทีมต้องร้องให้นักเตะและทีมงานลดค่าเหนื่อยมูลค่าสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์กระทั่งจบซีซันที่ผ่านมา ข้อตกลงดังกล่าวสิ้นสุดลงเมื่อจบฤดูกาลก่อนแต่ทีมยังคงได้รับผลกระทบจากรายได้ในภาวะโควิดจึงได้พยายามคงนโยบายดังกล่าวเอาไว้ ทว่าคราวนี้เหล่านักเตะในทีมไม่เห็นด้วย บอร์ดบริหารจึงจำเป็นต้องระบายแข้งชุดใหญ่ออกไปโดยหวยไปออกที่แข้งอย่าง เนลสัน เซเมโด้, ราฟินญา, อิวาน ราคิติช และ หลุยส์ ซัวเรซ
  • ความกังขาในสัญญาใหม่ บาร์โตเมวสละเรือ และสัญญาณแรกวิกฤตการเงิน ฤดูกาล 2020/21 เริ่มต้นขึ้นระหว่างที่แข้งในทีมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการลดค่าเหนื่อยของสโมสร แต่แล้วจู่ๆ พวกเขาก็ประกาศยืนยันการขยายสัญญาของ เฟรงกี้ เดอ ยอง, เคลมงต์ ล็องเลต์, เจจาร์ด ปิเก้ และ มาร์ค-อันเดร แทร์ สเตเก้น โดยภายในสัญญามีการระบุเงื่อนไขการลดค่าเหนื่อย เพื่อนร่วมทีมต่างแสดงความไม่พอใจต่อการตัดสินใจดังกล่าวและนั่นทำให้ โจเซป มาเรีย บาร์โตเมว ประธานสโมสรลาออกจากตำแหน่งเมื่อไม่สามารถโน้มน้าวแข้งรายอื่นให้ลดค่าเหนื่อยได้ และให้หลังจากนั้นก็มีรายงานว่าพวกเขาเสี่ยงต่อภาวะล้มละลายออกสู่สาธารณะ ไปจนถึงการประกาศเลื่อนจ่ายค่าเหนื่อยที่ตามมา
  • คดีบาร์ซาเกต ประธานคนใหม่ และตลาดซัมเมอร์ 2021 การลาออกของ บาร์โตเมว ไม่สามารถทำให้เขารอดพ้นจากความผิดที่ก่อไว้ได้ เขาถูกตำรวจรวบตัวในเดือนมีนาคม 2021 จากคดีที่สื่อเรียกว่า 'บาร์ซาเกต' กล่าวโดยสรุปคือ บาร์โตเมว และพรรคพวกว่าจ้างบริษัทประชาสัมพันธ์สร้างประเด็นโจมตีนักเตะซีเนียรที่ไม่เห็นด้วยกับเขาบนโซเชียลมีเดีย โดยในเดือนเดียวกันนั้นพวกเขายังได้ โจน ลาปอร์ต้า นั่งแท่นประธานสโมสรคนใหม่จากการเลือกตั้ง โดยหลังจากนั้นในตลาดซื้อขายนักเตะซัมเมอร์ พวกเขายังคงเดินหน้าปิดดีลคว้าแข้งใหม่เสริมทัพต่อเนื่องท่ามกลางงบแบบจำกัดจำเขี่ยได้ด้วยการซิว เซร์คิโอ อเกวโร, เมมฟิส เดปาย และ เอริค การ์เซีย แบบฟรีเอเยนต์ด้วยค่าเหนื่อยก้อนโตแต่กลายเป็นว่าการถูกจำกัดงบการเงินทำให้พวกเขาไม่สามารถลงทะเบียน 3 นักเตะดังกล่าวสำหรับฤดูกาล 2021/22 ได้กระทั่ง ปิเก้ กลายเป็นแข้งที่เสียสละยอมลดค่าเหนื่อยของตนเองในที่สุด
Lionel Messi
Lionel Messi of Barcelona Press Conference / Eric Alonso/GettyImages
  • การบอกลาของ ลิโอเนล เมสซี ให้หลังจากการเปิดตัว 3 แข้งใหม่กับความหวังสำหรับซีซันที่กำลังจะมาถึงพร้อมคำมั่นสัญญาที่ ลิโอเนล เมสซี จะจรดปากกาเซ็นสัญญาฉบับใหม่กับทีม แต่ท้ายที่สุดเหตุการณ์ดังกล่าวก็ไม่เกิดขึ้นจากกฎระเบียบ ข้อบังคับทางการเงินที่พลพรรค อาซูลกรานา ต้องเผชิญ สตาร์ทีมชาติ อาร์เจนตินา แถลงบอกลาถิ่น คัมป์นู ทั้งน้ำตาก่อนจะเปิดตัวกับ ปารีส แซงต์-แชร์กแมง ในเวลาต่อมา

ตลาดซื้อขายนักเตะที่ เมสซี-โรนัลโด้ ย้ายทีมแต่ อาร์เซนอล ใช้เงินมากที่สุด

ลิโอเนล เมสซี - ปารีส แซงต์-แชร์กแมง, เบน ไวท์ - อาร์เซนอล, คริสเตียโน โรนัลโด้ - แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
ลิโอเนล เมสซี - ปารีส แซงต์-แชร์กแมง, เบน ไวท์ - อาร์เซนอล, คริสเตียโน โรนัลโด้ - แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด /

ตลาดซื้อขายนักเตะ ซัมเมอร์ 2021 เป็นที่น่าจดจำเมื่อ 2 แข้งที่ดีที่สุดในโลกย้ายสังกัด

ปารีส แซงต์-แชร์กแมง อาศัยช่วงชุลมุนของ ลิโอเนล เมสซี ที่ บาร์เซโลนา ปิดดีลคว้าสตาร์ อาร์เจนไตน์ มาวาดลวดลายที่ ปาร์ก เดส์ แปรงส์ แบบฟรีเอเยนต์ ขณะที่ คริสเตียโน โรนัลโด้ ได้บอกลา ยูเวนตุส หวนคืนบ้านเก่าที่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ด้วยมูลค่าคาดการณ์ที่ราว 12.85 ล้านปอนด์

Jack Grealish
Manchester City v Norwich City - Premier League / Shaun Botterill/GettyImages

20 อันดับนักเตะค่าตัวแพงสุดในตลาดซัมเมอร์ 2021
1. แจ็ค กรีลิช จาก แอสตัน วิลลา สู่ แมนฯ ซิตี้ มูลค่า 105.75 ล้านปอนด์
2. โรเมลู ลูกากู จาก อินเตอร์ สู่ เชลซี มูลค่า 103.5 ล้านปอนด์
3. เจดอน ซานโช จาก โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ สู่ แมนฯ ยูไนเต็ด มูลค่า 76.5 ล้านปอนด์
4. อชราฟ ฮาคิมี จาก อินเตอร์ สู่ เปแอสเช มูลค่า 54 ล้านปอนด์
5. เบน ไวท์ จาก ไบรท์ตัน สู่ อาร์เซนอล มูลค่า 52.65 ล้านปอนด์

6. ดาโยต์ อูปาเมคาโน จาก แอร์เบ ไลป์ซิก สู่ บาเยิร์น มุลค่า 38.25 ล้านปอนด์
7. ราฟาเอล วาราน จาก เรอัล มาดริด สู่ แมนฯ ยูไนเต็ด มูลค่า 36 ล้านปอนด์
8. อิบราฮิมา โกนาเต้ จาก แอร์เบ ไลป์ซิก สู่ ลิเวอร์พูล มูลค่า 36 ล้านปอนด์
9. แทมมี อับราฮัม จาก เชลซี สู่ อาเอส โรมา มูลค่า 36 ล้านปอนด์
10. เอมิเลียโน บูเอนเดีย จาก นอริช สู่ แอสตัน วิลลา มูลค่า 34.56 ล้านปอนด์

11. มาร์ติน โอเดการ์ด จาก เรอัล มาดริด สู่ อาร์เซนอล มูลค่า 31.5 ล้านปอนด์
12. โรดริโก้ เดอ ปอล จาก อูดิเนเซ สู่ แอตเลติโก มาดริด มูลค่า 31.5 ล้านปอนด์
13. เคิร์ท ซูมา จาก เชลซี สู่ เวสต์แฮม มูลค่า 31.5 ล้านปอนด์
14. ลีออน ไบลีย์ จาก ไบเออร์ เลเวอร์คูเซน สู่ แอสตัน วิลลา มูลค่า 28.8 ล้านปอนด์
15. เอดูอาร์โด้ คามาแวงก้า จาก แรนส์ สู่ เรอัล มาดริด มูลค่า 27.9 ล้านปอนด์

16. แพทสัน ดาก้า จาก ซัลซ์บวร์ก สู่ เลสเตอร์ มูลค่า 27 ล้านปอนด์
17. ดอนเยลล์ มาเลน จาก พีเอสวี สู่ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ มูลค่า 27 ล้านปอนด์
18. นิโคลา วลาซิช จาก ซีเอสเคเอ มอสโคว สู่ เวสต์แฮม มูลค่า 27 ล้านปอนด์
19. แดนนี อิงส์ จาก เซาแธมป์ตัน สู่ แอสตัน วิลลา มูลค่า 26.4 ล้านปอนด์
20. โจ วิลล็อค จาก อาร์เซนอล สู่ นิวคาสเซิล มูลค่า 26.4 ล้านปอนด์

และตามที่เกริ่นไว้บนหัวข้อของตลาดซื้อขายนักเตะ อาร์เซนอล กลายเป็นทีมที่ถลุงงบมากที่สุดในตลาดรอบนี้ที่มูลค่าแตะหลัก 149 ล้านปอนด์ จากการคว้าตัว นูโน ตาวาเรส (7 ล้านปอนด์), อัลเบิร์ต แซมบี โลก็องก้า (15 ล้านปอนด์), ทาเคฮิโร โทมิยาสึ (16 ล้านปอนด์), อารอน แรมส์เดล (25 ล้านปอนด์), มาร์ติน​ โอเดการ์ด (31 ล้านปอนด์) และ เบน ไวท์ (52 ล้านปอนด์)

และย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นกับตลาดนักเตะเดือนมกราคม 2021 กับ 5 ดีลแพงสุดในเวลาดังกล่าวได้แก่
1. นิโคโล โรเวลลา จาก เจนัว สู่ ยูเวนตุส มูลค่า 20.97 ล้านปอนด์
2. ซาอิด เบนราห์มา จาก เบรนท์ฟอร์ด สู่ เวสต์แฮม มูลค่า 20.79 ล้านปอนด์
3. เซบาสเตียน ฮัลแลร์ จาก เวสต์แฮม สู่ อาแจ็กซ์ มูลค่า 20.25 ล้านปอนด์
4. โดมินิค โซบอสซ์ลาย จาก ซัลซ์บวร์ก สู่ ไลป์ซิก มูลค่า 19.8 ล้านปอนด์
5. อาหมัด ดิยัลโล จาก อตาลันต้า สู่ แมนฯ ยูไนเต็ด มูลค่า 19.17 ล้านปอนด์


กลุ่มทุน ซาอุดีอาระเบีย เทคโอเวอร์ นิวคาสเซิล

Supporters Head to St James's Park For The First Game After Newcastle United's Takeover
Supporters Head to St James's Park For The First Game After Newcastle United's Takeover / Ian Forsyth/GettyImages

นิวคาสเซิล ได้กลุ่มทุนใหม่นำโดย พีไอเอฟ (Public Investment Fund) หรือ กองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะของ ซาอุดีอาระเบีย ร่วมกับ อแมนด้า สเตฟลีย์ และพี่น้องรูเบนเข้าเทคโอเวอร์กิจการอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 2021 ท่ามกลางข้อวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นจริยธรรมทางธุรกิจ

กลุ่มทุนดังกล่าวได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2020 แต่ด้วยข้อพิพาทระหว่าง บีเอาต์คิว (beout) beoutQ) ผู้ให้บริการถ่ายทอดสดเกม พรีเมียร์ลีก แบบผิดกฎหมายใน ซาอุดีอาระเบีย กับ บีอินสปอตส์ (beIN Sports) สื่อโทรทัศน์ยักษ์ใหญ่ของ กาตาร์ เป็นสิ่งที่ทำให้ พรีเมียร์ลีก ได้ประวิงเวลาในการพิจารณาไฟเขียวดีลดังกล่าว

นอกเหนือจากนั้นยังมีการชูประเด็น 'การใช้กีฬาฟอกตัว' ตามที่ แอมเนสตี้ เป็นกังวลจากกรณีปัญหาสิทธิมนุษยชนใน ซาอุดีอาระเบีย แต่เสียงแสดงความกังวลดังกล่าวก็ไม่เป็นผลแต่อย่างใด

ให้หลังจากกระบวนการเทคโอเวอร์เสร็จสิ้น มีรายงานว่าสโมสรสมาชิก พรีเมียร์ลีก ที่เหลืออีก 19 ทีมแสดงความไม่พอใจที่ พรีเมียร์ลีก อนุญาตให้เกิดการเทคโอเวอร์ดังกล่าว รวมทั้งยังมีมติเอกฉันท์ในการใช้กฎการเงินอย่างเข้มงวดกับพลพรรค สาลิกาดง

ทั้งนี้ ดีลดังกล่าวทำให้ เดอะแม็กพายส์ กลายเป็นสโมสรที่มีเจ้าของมั่งคั่งที่สุดในโลก (3.2 แสนล้านปอนด์) เหนือบิ๊กทีมอย่าง ปารีส แซงต์-แชร์กแมง (2.2 แสนล้านปอนด์) และ แมนฯ ซิตี้ (2.1 หมื่นล้านปอนด์) โดยคาดการณ์ว่าพวกเขาจะสามารถใช้เงินเสริมทัพได้ทันที 150 ล้านปอนด์สำหรับปี 2022


เลวานดอฟสกี้ อกหัก บัลลงดอร์

Lionel Messi
Ballon D'Or : Ceremony At Theatre Du Chatelet In Paris / Aurelien Meunier/GettyImages

หากพิจารณาที่ผลงานในรอบปี 2020 ก่อนหน้านี้เพียงอย่างเดียว แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่า โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ จะสามารถคว้าเกียรติยศ บัลลงดอร์ 2020 ได้หรือไม่เมื่อเจ้าตัวซิว 6 ถ้วยแชมป์ได้แก่ บุนเดสลีกา, เดเอฟเบ คัพ, ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก, เดเอฟแอล ซูเปอร์คัพ, ยูฟ่า ซูเปอร์คัพ ไปจนถึง ฟีฟ่า คลับ เวิลด์คัพ

เลวานดอฟสกี้ กลายเป็นนักเตะคนแรกในประวัติศาตร์ที่คว้าเทรเบิลแชมป์และเป็นดาวซัลโวสูงสุดของ 3 รายการเมเจอร์ที่ลงเล่น ได้แก่ 34 ประตูใน บุนเดสลีกา, 6 ประตูในฟุตบอลถ้วย และ 15 ประตูใน แชมเปี้ยนส์ลีก

หัวหอกทีมชาติ โปแลนด์ ยังคงความร้อนแรงในรอบซีซันที่ผ่านมา 2020/21 กับเกียรติยศ โกลเด้นบูท 41 ประตูจากการลงเล่น 29 เกม ไปจนถึงการทำลายสถิติพังประตูใน บุนเดสลีกา 1 ฤดูกาลมากที่สุดของ แกร์ด มุลเลอร์ อันยาวนาน 49 ปีด้วยการใส่สกอร์ทะลุปรอทจำนวน 41 ประตู

ทว่าท้ายที่สุดผลการลงคะแนนของผู้สื่อข่าวทั่วโลกต่างเทคะแนนให้ ลิโอเนล เมสซี คว้า บัลลงดอร์ 2021 ไปครอง


โอละพ่อ จับสลากประกบคู่ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก รอบ 16 ทีม 2 รอบ

UEFA Champions League 2021/22 Group Stage Draw
UEFA Champions League 2021/22 Group Stage Draw / Anadolu Agency/GettyImages

ท่ามกลางความตื่นเต้นหลังการจับสลากประกบคู่รอบ 16 ทีมสุดท้ายของศึก ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก แฟนบอลต่างจินตนาการถึงภาพการแข่งขันในสนาม พวกเราระดมสมองคิดประเด็นเพื่อเป็นไอเดียในการเขียนบทความ แต่แล้วทันใดนั้น ยูฟ่า ก็ประกาศจับสลากใหม่อีกครั้งพร้อมกับให้การประกบคู่ก่อนหน้านี้เป็นโมฆะ

กล่าวโดยสรุปคือมีความผิดพลาดระหว่างการหยิบลูกบอล เข้า-ออก จากโถภายใต้เงื่อนไขที่ทีมจากรอบแบ่งกลุ่มเดียวกันไม่สามารถเจอกันในรอบน็อคเอาท์ได้ เหตุการณ์ดังกล่าวถูกโซเชียลมีเดียจับโป๊ะก่อนที่ ยูฟ่า เองจะประกาศยืนยันการจับสลากใหม่อีกครั้งจาก 'ความผิดพลาดทางเทคนิค'

นั่นหมายความว่าพาดหัวข่าวคู่บิ๊กแมตช์ เปแอสเช พบ แมนฯ ยูไนเต็ด ซึ่งจะเป็นการดวลกันระหว่าง ลิโอเนล เมสซี กับ คริสเตียโน โรนัลโด้ จะไม่เกิดขึ้น (อย่างน้อยก็ในรอบนี้) ขณะที่ เชลซี จับสลากประกบคู่ได้คู่แข่งเดิมคือ ลีลล์ ทั้ง 2 รอบ!?

การจับสลากประกบคู่ครั้งแรกที่เป็นโมฆะ

  • เบนฟิก้า พบ เรอัล มาดริด
  • บียาร์เรอัล พบ แมนฯ ซิตี้
  • แอตเลติโก มาดริด พบ บาเยิร์ มิวนิค
  • เร้ดบูลล์ ซัลซ์บวร์ก พบ ลิเวอร์พูล
  • อินเตอร์ พบ อาแจ็กซ์
  • สปอร์ติง พบ ยูเวนตุส
  • ลีลล์ พบ เชลซี
  • เปแอสเช พบ แมนฯ ยูไนเต็ด

การจับสลากประกบคู่ครั้งที่สองที่ได้รับการยืนยัน

  • เร้ดบูลล์ ซัลซ์บวร์ก พบ บาเยิร์น มิวนิค
  • สปอร์ติง พบ แมนฯ ซิตี้
  • เบนฟิก้า พบ อาแจ็กซ์
  • เชลซี พบ ลีลล์
  • แอตติโก มาดริด พบ แมนฯ ยูไนเต็ด
  • บียาร์เรอัล พบ ยูเวนตุส
  • อินเตอร์ พบ ลิเวอร์พูล
  • เปแอสเช พบ เรอัล มาดริด

ทีมชาติไทยกับ (ว่าที่) แชมป์ เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2020

Chanathip Songkrasin, Supachok Sarachat
Indonesia v Thailand - AFF Suzuki Cup Final 1st Leg / Yong Teck Lim/GettyImages

ทีมชาติไทย ภายใต้การคุมทีมของ อากิระ นิชิโนะ ทำผลงานในครึ่งปีแรกได้อย่างน่าผิดหวัง กุนซือชาว ญี่ปุ่น พาทีมกระเด็นตกรอบที่ 2 ของศึก ฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก ด้วยการรั้งรองบ๊วยของกลุ่ม เป็นรอง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, เวียดนาม และ มาเลเซีย โดยมีเพียง อินโดนีเซีย เท่านั้นในกลุ่มที่ทำผลงานได้เลวร้ายกว่า

นิชิโนะ เซ่นผลงานด้วยตำแหน่งนายใหญ่ทัพ ช้างศึก ก่อนที่ความเคลื่อนไหวของทีมชาติจะเงียบหายไปราว 5 เดือน ตามมาด้วยการประกาศเข้ารับตำแหน่งกุนซือคนใหม่ของ มาโน โพลกิ้ง อดีตหัวเรือใหญ่ของ แบงค็อก ยูไนเต็ด ในเวลาต่อมาพร้อมกับทัวร์นาเมนต์ เอเอฟเอฟ ซูซูกิคัพ 2020 ที่โยกมาเตะกันปลายปี 2021

แม้จะเตรียมทีมด้วยความกระท่อนกระแท่นจากโปรแกรมลีกที่ชุก ปัญหานักเตะบาดเจ็บ และเหล่าแข้งนอกประเทศที่มีอุปสรรคในการเดินทางอยู่บ้างแต่พวกเขาก็ระเบิดฟอร์ม ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมตลอดทั้งทัวร์นาเมนต์

หนึ่งในแมตช์ที่ตราตรึงคือการดับซ่า เวียดนาม คู่รักคู่แค้นแห่ง อาเซียน ด้วยสกอร์ 2-0 ในนัดแรกของรอบรองชนะเลิศ ก่อนจะฉลุยสู่การชิงดำกับ อินโดนีเซีย ที่เกมแรกพวกเขาก็สามารถตุนสกอร์เอาชนะมาได้ขาดลอย 4-0 จนแทบจะเรียกได้ว่ามือข้างหนึ่งของทัพ ช้างศึก ได้กุมไปที่ถ้วยแชมป์เป็นที่เรียบร้อย

หากไม่มีการพลิกล็อคระดับวินาศสันตะโรก็ทำให้เราคาดการณ์ได้ว่าจะฉลองปีใหม่อย่างเป็นทางการด้วยการซิวแชมป์ เอเอฟเอฟ ซูซูกิคัพ อย่างเป็นทางการสมัยที่ 6 ได้ในโปรแกรมวันที่ 1 มกราคมนี้