Back to basic ! ว่าด้วยเรื่องวิธี "การซื้อขายนักเตะ" ในวงการฟุตบอล - FEATURE

Chelsea's Italian manager Carlo Ancelott
Chelsea's Italian manager Carlo Ancelott / CARL DE SOUZA/GettyImages
facebooktwitterreddit

เป็นเรื่องปกติที่หลังจากการแข่งขันฟุตบอลในลีกยักษ์ใหญ่ของยุโรปจบลง ในช่วงกลางปีก็เริ่มจะเข้าสู่ฤดูของการโยกย้ายนักเตะซึ่งอย่างที่ทราบกันว่าสำหรับลีกดัง ๆ จะมีช่วงที่เปิดอนุญาตให้ซื้อขายอยู่ 2 ระลอกด้วยกันคือ ช่วงหน้าหนาวระหว่างฤดูกาล และช่วงหน้าร้อนหลังปิดฤดูกาล

วันนี้เราจึงอยากมาคุยถึงเรื่องเบสิกสุด ๆ ที่เกี่ยวกับการซื้อขายย้ายทีมของนักเตะว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร มีกระบวนการอะไรบ้าง ตามไปชมกัน...

Saudi Arabia's Al Nassr to hold signing ceremony on Tuesday for Cristiano Ronaldo
Saudi Arabia's Al Nassr to hold signing ceremony on Tuesday for Cristiano Ronaldo / Anadolu Agency/GettyImages

การซื้อขายนักเตะ คืออะไร ?

อาจจะฟังดูเป็นคำถามไร้สาระ แต่สำหรับใครที่เพิ่งจะเริ่มให้ความสนใจในวงการนี้ การซื้อขายนักเตะ ถือเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งที่ทำให้วงการฟุตบอลคงอยู่เลยก็ว่าได้ กล่าวคือเป็นการย้ายทีมของนักฟุตบอลซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมของสโมสรผู้ซื้อและสโมสรผู้ขาย

กรณีที่นักเตะยังอยู่ภายใต้สัญญากับทีมใดทีมหนึ่ง หากสโมสรอื่นจต้องการตัวก็มักจะต้องมีการจ่ายค่าชดเชย หรือเรียกอีกอย่างว่า "ค่าตัว" จะมากหรือน้อยตามแต่ทั้งสองทีมจะตกลงกัน ซึ่งโดยมากขึ้นอยู่กับผลงาน ระยะสัญญาที่เหลือมูล ค่าการตลาด หรือมูลค่าทางธุรกิจที่ติดตัวนักเตะผู้นั้นไป


การซื้อขายนักเตะ มีวิธีการอย่างไร ?

เช่นเดียวกับการทำธุรกรรมทางธุรกิจทั่วไป กล่าวง่าย ๆ คือ การซื้อขายจะเกิดขึ้นเมื่อทั้งสองสโมสรตกลงเงื่อนไขการซื้อขาย และผู้ซื้อบรรลุข้อตกลงทำสัญญากับผู้เล่น

ซึ่งรายละเอียดการซื้อขายนั้นส่วนมากจะเริ่มจากเมื่อผู้ซื้อสนใจนักเตะคนใด มักจะสอบถามไปยังสโมสรต้นสังกัดเพื่อพูดคุยเจรจา หากสนใจจะขายและสามารถตกลงเงื่อนไขกันได้ สิทธิ์ในการตัดสินใจย้ายทีมจะตกเป็นของนักเตะ ซึ่งจะพิจารณาข้อเสนอจากสโมสรผู้ซื้อร่วมกับที่ปรึกษาหรือในวงการเรียกว่า "เอเยนต์" ที่คอยเจรจาให้คำแนะนำและรักษาผลประโยชน์ของนักเตะ

แน่นอนว่ามีหลายปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการซื้อขายนักเตะเช่น การตกลงกันของสองสโมสรในเรื่องค่าตัว เปอร์เซนต์จากกำไรการซื้อขายนักเตะในรอบถัดไป เงื่อนไขต่าง ๆ ทั้งทางการเงินและไม่เกี่ยวข้องกับการเงิน ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่มีแบบฉบับตายตัวขึ้นอยู่กับสองฝ่ายจะตกลงกัน

หลังจากผ่านด่านแรกในการเจรจากับต้นสังกัด ผู้ซื้อก็จำเป็นต้องมาเจรจากับตัวนักเตะต่อ ซึ่งในวงการฟุตบอลจะมีการทำสัญญาจ้าง ซึ่งจะกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ เอาไว้ทั้งรายได้ โบนัส ระยะเวลาการจ้าง รวมถึงปัจจัยต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับความต้องการของนักเตะเช่น ระบุวิธีการฉีกสัญญา หรือการจัดหาที่พักให้ครอบครัว เป็นต้น


"แทปปิ้ง" คืออะไร

คำนี้เป็นศัพท์ที่ใช้ในวงการฟุตบอลกรณีของการซื้อขายนักเตะที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนปกติที่กล่าวไปข้างต้น กล่าวคือการที่มีการเจรจาโดยตรงกับนักเตะก่อนโดยไม่ได้รับความยินยอมจากต้นสังกัดปัจจุบัน ซึ่งโดยทั่วไปวิธีนี้ "เอเยนต์" มักจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปิดเจรจาล่วงหน้า หรืออาจจะมีคนกลางในการพูดคุยกับนักเตะเช่น เพื่อนร่วมทีม สตาฟฟ์โค้ช เป็นต้น อาจกระทำทำโดยลับหรือประกาศผ่านสื่อเลยก็มีให้เห็น แต่แน่นอนว่าวิธีการนี้เป็นวิธีการที่ไม่เป็นมืออาชีพในวงการและไม่ได้รับการยอมรับ

กระนั้นการใช้วิธีนี้ก็เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ตัวอย่างเช่นการให้นักเตะเพื่อนร่วมชาติเป็นผู้เชื้อเชิญดังเช่นกรณีของ ชาบี ที่พยายามเกลี้ยกล่อมให้ เชส ฟาเบรกาส ย้ายจาก อาร์เซนอล กลับมาอยู่กับ บาร์เซโลนา อีกครั้งเมื่อปี 2012 หรือล่าสุดกับกรณีที่ผู้บริหารของ ชัคตาร์ โดเน็ตสก์ ออกมาเปิดเผยว่า อาร์เซนอล มีการแอบติดต่อกับตัวแทนของ มิเคย์โล มูดริค เป็นเวลาเกือบสองเดือนก่อนจะเริ่มเปิดเจรจากับสโมสรต้นสังกัดนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม พรีเมียร์ลีก ได้ระบุชัดเจนถึงกฏการ "แทปปิ้ง" ว่านักเตะจะเจรจาเกี่ยวกับการโยกย้ายทีมโดยตรงได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากต้นสังกัดปัจจุบันก่อนเท่านั้น

แต่.. เคยมีเอเยนต์ชื่อดังผู้ไม่ประสงค์ออกนามให้สัมภาษณ์กับ เดอะ มิร์เรอร์ สื่อดังของอังกฤษไว้ว่า "ไม่มีการซื้อขายใดที่นักเตะไม่พูดคุยกับสโมสรที่สนใจก่อน แต่การพูดคุยนั้นก็มีทั้งแบบถูกต้องตามกฏและอีกมากก็เป็นการแอบเจรจากันอย่างลับ ๆ"

แน่นอนว่า พรีเมียร์ลีก เองก็มีมาตรการลงโทษสำหรับการกระทำดังกล่าว ตัวอย่างเช่น ในปี 2017 ลิเวอร์พูล ถูกจับได้ว่าแอบเจรจากับนักเตะเยาวชนที่ยังสังกัดอยู่กับ สโต๊ค ซิตี้ ทำให้พวกเขาถูกปรับเงิน 100,000 ปอนด์พร้อมโดนแบนจากการเซ็นสัญญานักเตะทีมเยาวชนเป็นเวลา 2 ปี เช่นเดียวกับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่โดนข้อหาเดียวกันในอีกไม่กี่เดือนต่อมา ก็ถูกปรับ 300,000 ปอนด์และโดนแบน 2 ปีกับการเซ็นสัญญานักเตะเยาวชนเหมือนกับ หงส์แดง


"เอเยนต์" ทำหน้าที่อะไร

กลับมาสู่วิธีการซื้อขายแบบถูกต้องตามที่กล่าวไปข้างต้น ปกติแล้วนักฟุตบอลเกือบ 99% จะมีตัวแทนหรือที่ปรึกษาทำหน้าที่เป็น "เอเยนต์" คอยเจรจาและดูแลเรื่องผลประโยชน์ต่าง ๆ ให้ซึ่งรวมถึงการดูแลด้านกฏหมาย และเอกสารนอกสนามอีกด้วย

ซึ่งเอเยนต์ที่ดีนอกจากจะถนัดเรื่องการเจรจาแล้วยังต้องมีความรู้ด้านกฏหมาย กฏระเบียบต่าง ๆ ของแต่สมาคมเพื่อรักษาผลประโยชน์ของนักเตะภายใต้การดูแล ซึ่งพวกเขาจะได้รับค่าจ้างหลากหลายรูปแบบทั้งการหักเปอร์เซนต์จากค่าเหนื่อยนักเตะ รวมถึงเงินก้อนที่ตกลงกับสโมสรระหว่างการซื้อขาย

ตัวอย่างเอเยนต์ชื่อดังที่รู้จักกันดีในวงการเช่น มิโน ไรโอลา และ ฮอร์เก้ เมนเดส ที่ได้รับฉายา "สุดยอดเอเยนต์" ซึ่งที่ได้มาจากความเขี้ยวลากดินในการเจรจารวมถึงลูกเล่นในการใช้กฏระเบียบข้อกฏหมายเพื่อสร้างประโยนช์สูงสุดให้กับตัวนักเตะที่ตนดูแลอยู่นั่นเอง

Mino Raiola
Juventus FC v SSC Napoli - Serie A / Jonathan Moscrop/GettyImages

การซื้อขายนักเตะ แบบไร้ค่าตัว

ความหมายค่อนข้างตรงตัว คือการย้ายทีมแบบไม่มีค่าใช้จ่ายที่ผู้ซื้อต้องจ่ายให้กับสโมสรต้นสังกัด โดยส่วนมากจะมีสองกรณีคือ

- นักเตะไม่มีต้นสังกัดหรือกำลังจะหมดสัญญา ซึ่งกรณีที่นักเตะกำลังจะหมดสัญญาก็มี "กฏบอสแมน" ที่ระบุว่านักเตะสามารถเจรจาหาต้นสังกัดใหม่ล่วงหน้าได้ทันทีหากเหลือระยะเวลาภายใต้สัญญากับต้นสังกัดเดิมน้อยกว่า 6 เดือน แต่การโยกย้ายจะเกิดขึ้นหลังจากสัญญาหมดลง

- สโมสรต้นสังกัดยินยอมพร้อมใจจะปล่อยตัวแบบฟรี ๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นกับบางกรณีเช่น มีนักเตะที่ไม่ได้ใช้งานแต่ยังเหลือสัญญาอยู่ หากมีทีมให้ความสนใจและมองว่าเป็นผลดีกับทั้งสโมสรและนักเตะบางครั้งก็จะมีการยอมปล่อยออกจากทีมแบบฟรี ๆ เพื่อให้การซื้อขายเสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด


การร้องขอย้ายทีมของนักเตะ

ถือเป็นเรื่องปกติของการซื้อขายนักเตะเช่นกัน กับการที่นักเตะสามารถเรียกร้องต่อต้นสังกัดเพื่อขอขึ้นบัญชีเป็นนักเตะพร้อมขาย โดยเป็นสิทธิ์ที่นักฟุตบอลที่สามารถอุทธรณ์ต่อต้นสังกัดหลังจากสโมสรปฏิเสธข้อเสนอจากทีมอื่น ๆ หลายครั้ง เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้การซื้อขายเกิดขึ้น

โดยส่วนใหญ่เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นเมื่อนักเตะเริ่มไม่พอใจกับสถาการณ์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นความต้องการย้ายไปสโมสรที่ใหญ่กว่าเดิม ความต้องการที่จะลงสนามมากขึ้น ความบาดหมางภายใน หรือสถานการณ์ในที่ทีมไม่เอื้อกับการค้าแข้งต่อไป เป็นต้น

Cristiano Ronaldo, Georgina Rodriguez, Piers Morgan
CR7 Play It Cool Fragrance Lauch / Tullio M. Puglia/GettyImages