10 เรื่องที่คุณ (อาจ) ยังไม่รู้ของ มาเตโอ โควาซิช อีกหนึ่งของดีที่ เชลซี ส่งต่อให้ แมนฯ ซิตี้ - FEATURE

• ชูเสื้อเปิดตัวกับ แมนฯ ซิตี้ ไปเรียบร้อย ด้วยสนนราคา 25+5 ล้านปอนด์
• ผ่านประสบการณ์เคี่ยวกรำสุดๆ ทั้งกับ อินเตอร์, เรอัล มาดริด, เชลซี ก่อนมาลงเรือ
• เชื่อได้ว่า หลังจากเป็นคีย์แมนแดนกลางของ เชลซี แล้ว ก็จะไปสร้างประโยชน์กับ แมนฯ ซิตี้ ต่อเนื่อง
Chelsea FC v Newcastle United - Premier League
Chelsea FC v Newcastle United - Premier League / Visionhaus/GettyImages
facebooktwitterreddit

เข้าเปิดตัวเป็นนักเตะคนแรกประจำตลาดซัมเมอร์นี้ของทีม "3 แชมป์" แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เรียบร้อยแล้ว หลังจาก เชลซี ตกลงรับข้อเสนออย่างง่ายๆ ไม่โยกโย้ และนี่คือ 10 เรื่องที่คุณ (อาจ) ยังไม่รู้ของ มาเตโอ โควาซิช ผู้ซึ่งอาจเป็น "บิ๊กดีล" ของ แมนฯ ซิตี้ ในราคาเบาหวิว

1. ที่จริงคือ 'คนออสเตรีย'

ความที่ยุโรปตะวันออกยุค 80-90 เต็มไปด้วยความวุ่นวายและเจ็บปวดจากสงคราม คุณพ่อ สติโป และคุณแม่ รูซิก้า จึงอพยพย้ายถิ่นฐานจาก ยูโกสลาเวีย (ก่อนแตกประเทศ) ไปสู่ ออสเตรีย ก่อนได้พยานรักเป็น ด.ช. มาเตโอ โควาซิช ที่ออสเตรียนั่นเอง (เป็นลูกชายคนโตของน้องสาวอีก 2 คน) ในวันที่ 6 พ.ค. 1994 และเจ้าหนูมาเตโอก็เติบโตขึ้นที่ออสเตรียกระทั่งถึงวัยทำความรู้จักกับฟุตบอล จนได้เข้าสู่อะคาเดมี่ของสโมสรชั้นนำอย่าง แอลเอเอสเค ลินซ์ ตอนอายุราว 6-7 ขวบ

Soccer : UEFA Champions League Group D - Ajax v GNK Dinamo Zagreb
Soccer : UEFA Champions League Group D - Ajax v GNK Dinamo Zagreb / Matthew Ashton/GettyImages

2. 16 ปี 198 วัน

ฉายแววในฐานะเด็กปั้นของ แอลเอเอสเค ลินซ์ อยู่พักหนึ่ง จนกระทั่งอายุได้ราว 13 ขวบ โควาซิช ก็ถูกจับตาจากสโมสรระดับโลกอย่าง อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม, ยูเวนตุส, อินเตอร์ มิลาน และ บาเยิร์น มิวนิค แต่ก้าวเดินถัดมาที่เขาและครอบครัวเลือก คือการย้ายถิ่นฐานสู่ โครเอเชีย เพื่อเข้าร่วมอะคาเดมี่ของ ดินาโม ซาเกร็บ

มีการเผยว่า ช่วงปี 2009 ที่ โควาซิช อายุได้ 14-15 เขาได้รับบาดเจ็บหนักถึงขั้นขาหัก ซึ่งไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ของเด็กอายุเท่านี้ ทว่าหลังจากใช้เวลาพักรักษาตัวและฟื้นฟูอยู่ราว 1 ปีเต็ม โควาซิช ก็กลับมาลงสนามให้กับทีมเยาวชน ยู-17 ของต้นสังกัดได้อีกครั้ง

พัฒนาการของมิดฟิลด์ดาวรุ่งอย่างเขาเป็นไปอย่างน่าประทับใจ จน วาฮิด ฮาลิลฮอดซิช กุนซือทีมชุดใหญ่ของ ดินาโม ซาเกร็บ เวลานั้น เปิดที่ทางให้กับ โควาซิช ได้ลงชิมลางเกมลีกสูงสุดโครเอเชีย นัดพบ เฮอร์วัตสกี้ ดราโกโวลยัก ช่วงปลายปี 2010 และชื่อของเขาก็เป็นที่พูดถึงอย่างมากของสื่อในประเทศ หลังจากพังประตู 4-0 ได้ทันทีในชัยชนะ 6-0 จนเป็นสถิติใหม่นักเตะอายุน้อยสุดที่ทำประตูได้ในลีกโครแอต ด้วยวัย 16 ปีกับอีก 198 วัน

FBL-EUR-C1-PSG-ZAGREB
FBL-EUR-C1-PSG-ZAGREB / FRANCK FIFE/GettyImages

3. เสียน้ำตาเพราะ เจอร์ราร์ด

ไม่แน่ชัดว่าเกิดขึ้นในสมัยอยู่ในแคมป์ แอลเอเอสเค ลินซ์ ที่ออสเตรีย หรือกับทาง ดินาโม ซาเกร็บ แต่มีภาพว่อนโซเชียลถึงจังหวะที่ "เด็กเก็บบอล" อย่าง โควาซิช ในสภาพหัวเกรียน (น่าจะเป็นตอนอยู่ ลินซ์ มากกว่า) พยายามเข้าประชิดตัว สตีเว่น เจอร์ราร์ด ในเครื่องแบบสีเหลืองของ ลิเวอร์พูล เพื่อขอจับมือด้วย

ปรากฏว่า เจอร์ราร์ด ในมู้ดไม่ค่อยสบอารมณ์ ไม่ได้ใส่ใจเจ้าหนูคนนี้มากไปกว่าการมุ่งหน้าเดินออกจากสนาม จนไม่ได้ยื่นมือไม้ให้จับใดใดทั้งสิ้น ซึ่งว่ากันว่าทำให้ โควาซิช ถึงกับร่ำไห้ด้วยความผิดหวัง

จังหวะนี้เองที่อาจมีส่วนทำให้ โควาซิช ใช้เป็นแรงผลักดัน ว่าตัวเขาจะต้องก้าวไปเป็นนักเตะอาชีพชั้นแนวหน้าให้ได้ เพื่อที่วันหนึ่งเขาจะจับมือกับ เจอร์ราร์ด หรือซูเปอร์สตาร์คนใดในสนามได้อย่างเต็มภาคภูมิ

อย่างไรก็ตาม ก็มีการเผยข้อมูล Fact Check จากบางแหล่ง ว่าอันที่จริงภาพดังกล่าวไม่ใช่ โควาซิช แต่เป็นแฟนบอลรุ่นเล็กชาวกรีก ที่ไม่ได้ทราบชื่อเสียงเรียงนามแต่อย่างใด

4. กาก้า + เซดอร์ฟ

แจ้งเกิดกับ ดินาโม ซาเกร็บ ได้เร็ว ขึ้นเป็นตัวหลักของทีมตั้งแต่อายุ 17 และ โควาซิช ก็คว้าโอกาสการย้ายสู่ "ยักษ์ต่างแดน" เร็วเช่นกัน ตอนต้นปี 2013 ที่ อินเตอร์ มิลาน ปิดดีลคว้าตัวสู่ ซาน ซิโร่ ด้วยค่าเสียหาย 11 ล้านยูโร บวกโบนัส 4 ล้านยูโรหากว่า อินเตอร์ คว้าโควตาลุย ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ได้ในตอนที่ โควาซิช อยู่กับทีม

และแม้จะเข้าไปอยู่กับ อินเตอร์ ยุคตกระกำลำบาก ตกต่ำลงชัดหลังคว้าทริปเปิ้ลแชมป์ แต่ โควาซิช ก็ทำหน้าที่ของตัวเองได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการแทรกตัวเข้าไปเป็นแกนหลักแดนกลางของทั้ง อันเดรีย สตรามัชโชนี่, วอลเตอร์ มาซซาร์รี่ และ โรแบร์โต้ มันชินี่ ที่สลับกันเข้ามานั่งเก้าอี้บอสงูใหญ่

"มาซซาร์รี่ ตัดสินใจได้ดีในการเลือกทีม เมื่อเขาใช้งาน โควาซิช ใน 11 คนแรก" ขรัวเฒ่า โจวานนี่ ตราปัตโตนี่ ว่าไว้ "แนวทางที่ โควาซิช เล่น มันคือส่วนผสมระหว่าง กาก้า กับ คลาเรนซ์ เซดอร์ฟ เขาพร้อมพาลูกไปกับตัว เล่นด้วยเทคนิคสูง และมีการออกตัวสปีดต้นที่ดีมาก"

Mateo Kovacic
FC Internazionale Milano v Parma FC - Serie A / Marco Luzzani/GettyImages

5. โครแอตคนที่ 5

3 ปีในรั้ว ซาน ซิโร่ แม้ไม่ประสบความสำเร็จเห็นโทรฟี่ แต่ โควาซิช ก็ได้รับคำชมจากหลายฝ่ายถึงฟอร์มการเล่นส่วนตัว ซึ่งที่จริงแล้ว อินเตอร์ อยากเก็บเขาไว้ให้นานเท่านาน ตามสัญญาที่เพิ่งเซ็นต่อกันจนถึงปี 2019 แต่ด้วยข้อบังคับของกฎการเงิน FFP ก็ทำให้พวกเขาจำเป็นต้องเทขาย โควาซิช ออกในช่วงซัมเมอร์ 2015

อินเตอร์ จำใจรับข้อเสนอ 29 ล้านยูโรจาก เรอัล มาดริด (ว่ากันว่า เอาชนะ ลิเวอร์พูล ในการแย่งตัว) แต่ในคราวเดียวกันก็ทำให้ โควาซิช ไปถึงฝันที่วาดไว้ตั้งแต่ยังเล็ก "ผมตกลงเซ็นสัญญาแบบไม่ต้องคิด เมื่อฝันของผมที่มีเสมอมาคือการเล่นให้กับสุดยอดทีมอย่าง เรอัล มาดริด" เขากล่าวในบทสัมภาษณ์เปิดตัวกับทีมชุดขาว "ทีมฟุตบอลทีมแรกที่ผมรู้จักตอนเด็กก็คือ เรอัล มาดริด และผมยังไม่อยากเชื่อตัวเองเท่าไหร่ว่าผมได้เข้าร่วมทีมนี้แล้วจริงๆ"

และนับว่า โควาซิช เป็นแข้งโครแอตรายที่ 5 ที่ได้เล่นให้กับ เรอัล มาดริด ถัดจากตำนานอย่าง โรเบิร์ต โปรซิเนซกี้, ดาวอร์ ซูเคอร์, โรเบิร์ต ยาร์นี่ (สปีด 9) และไอดอลของเขาอย่าง ลูก้า โมดริช

FBL-ESP-LIGA-REALMADRID-KOVACIC
FBL-ESP-LIGA-REALMADRID-KOVACIC / DANI POZO/GettyImages

6. เมื่อเพื่อนร่วมทีมคือ 'ไอดอล'

"โมดริช คือไอดอลของผมมาตั้งแต่ยังเด็กแล้ว (ตอนที่ โมดริช เริ่มสร้างชื่อกับ สเปอร์ส ฝั่ง โควาซิช ยังเป็นเด็กฝึกอะคาเดมี่ ดินาโม ซาเกร็บ อยู่เลย) และเมื่อผมได้มายังมาดริด เราก็ใกล้ชิดสนิทสนมกันมากขึ้น มันเป็นเรื่องยอดเยี่ยมที่ได้มีนักเตะชั้นยอดเป็นเพื่อน เขามีอิทธิพลกับผมสูงมาก"

"คำแนะนำดีๆ ที่ผมได้จากเขาคือ เมื่อคุณชนะ จงอย่าลำพอง และเมื่อคุณแพ้ ก็อย่าสิ้นหวังกับตัวเอง จงเชื่อมั่นเข้าไว้"

"ผมอายุแค่ 21 ตอนย้ายเข้าไปที่มาดริด แน่นอนว่าตอนแรกๆ ผมค่อนข้างตื่นเต้น และการฝึกซ้อมก็หนักมาก มันมีการแข่งขันในทีมอยู่เสมอ แต่เมื่อผมมองย้อนกลับไป มันก็เป็นเหมือนสิทธิพิเศษของผมในการมียอดนักเตะรายล้อมรอบข้าง และผมได้เรียนรู้จากพวกเขาเยอะมาก"

"แน่นอนว่าผมสนิทกับ ลูก้า เขาคือหนึ่งในนักเตะประเภทผู้นำทีม และข้างหน้าของเราก็ยังมี คริสเตียโน่ โรนัลโด้ เขาเป็นผู้นำทั้งในและนอกสนามเช่นกัน"

Lionel Messi, Cristiano Ronaldo, Mateo Kovacic, Luka Modric
FC Barcelona v Real Madrid CF - La Liga / Alex Caparros/GettyImages

7. 3 ปี 9 แชมป์

แม้จะเข้าไปเจอช่วงรอยต่อ (เหมือนตอนอยู่อินเตอร์) กับการที่ เรอัล มาดริด มีการเปลี่ยนตัวกุนซือจาก ราฟาเอล เบนิเตซ เป็น ซีเนอดีน ซีดาน ตอนต้นครึ่งซีซั่นหลังของ 2015/16 แต่ก็ไม่ถือว่าส่งผลแง่ลบจนกระทบโอกาสลงสนามของ โควาซิช แต่อย่างใด

ที่สำคัญ โควาซิช ยัง "ชูถ้วยจนเมื่อย" กับที่นี่ เมื่อปรากฏว่าภายใน 3 ปี 3 ซีซั่นของการสวมชุดขาว เขาได้แชมป์มากถึง 9 รายการด้วยกัน นับเป็นช่วงที่ประสบความสำเร็จที่สุดในชีวิตก็ว่าได้

  • แชมป์ ลา ลีกา 1 สมัย : 2016/17
    แชมป์ ซูเปอร์โกปา เด เอสปันย่า 1 สมัย : 2017
    แชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก 3 สมัย : 2015/16, 2016/17, 2017/18
    แชมป์ ยูฟ่า ซูเปอร์ คัพ 2 สมัย : 2016, 2017
    แชมป์สโมสรโลก ฟีฟ่า คลับ เวิลด์ คัพ 2 สมัย : 2016, 2017
Mateo Kovacevic, Luka Modric
Real Madrid v Club Atletico de Madrid - UEFA Champions League Final / Chris Brunskill Ltd/GettyImages

8. คีย์แมนแดนกลางสิงห์

อย่างไรก็ตาม ด้วยความอัดแน่นของแดนกลาง เรอัล มาดริด และ โควาซิช เป็นสำรองบ่อยครั้ง -- นัดชิงชนะเลิศ ชปล. 3 ปี แม้จะได้แชมป์ 3 รอบ โควาซิช ก็ได้แต่นั่งดูเพื่อนเล่นอย่างเดียว ส่งผลให้เมื่อ เชลซี ขยับเข้าหาด้วยสัญญายืมตัว 1 ปี เรอัล มาดริด จึงยอมปล่อยให้ตอนซัมเมอร์ 2018

และจากสัญญายืมตัวก็กลายเป็นการย้ายถาวรในราคา 40.5 ล้านปอนด์ ในอีกปีให้หลัง

แม้จุดเด่นของ โควาซิช จะไม่ได้อยู่ที่การทำประตู (ปีละลูกสองลูก เยอะแล้ว) แต่ก็คล้ายๆ ว่า เชลซี ได้ตัว "ลูก้า โมดริช ร่างจำแลง" มาอยู่เหมือนกัน กับประโยชน์ของการออกบอล, ลูกบู๊ลูกบุ๋น, การมีส่วนกับเกมทั้งรุกรับ, เทคนิคชั้นเชิงการเล่นกับลูก และความสารพัดประโยชน์สามารถเล่นได้ทุกจุดของตรงกลาง

อีกแม้ว่าในช่วงสวมเครื่องแบบสีน้ำเงินของ โควาซิช จะไม่ลงเอยด้วยแชมป์พรีเมียร์ลีกสักครั้ง แต่ก็ไปถึงแชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก 1 หน รวมถึงยังได้รับเลือกให้เป็นนักเตะแห่งปี เชลซี 2019/20 ด้วย

Mateo Kovacic
Manchester City v Chelsea FC - UEFA Champions League Final / David Ramos/GettyImages

9. จบง่ายกว่าที่คิด

ในระหว่างซีซั่นล่าสุดซึ่ง โควาซิช มีเจ้านายถึง 4 คน (ทูเคิ่ล > พ็อตเตอร์ > บรูโน่ > แลมพาร์ด) ชัดเจนว่าเป็นปีที่ "ล้มเหลว" อย่างหนักของ เชลซี ยุคเจ้าของใหม่ ท็อดด์ โบห์ลี่ แต่ในส่วนของ โควาซิช ที่ก็ฟอร์มดร็อปๆ ไปเช่นกันนั้น (และดูเล่นไม่ค่อยเข้าขากับผู้มาใหม่ เอ็นโซ เฟร์นานเดซ) ก็ยังมีภาพจำของการถูกตั้งเป็น "กัปตันทีม" ในหลายแมตช์

และถือว่า เชลซี กับ โควาซิช "ตัดจบง่ายกว่าที่คิด" ด้วยการที่สัญญาของเขากำลังจะหมดลงในปี 2024 และทีมตราสิงห์ต้องการเงินเพื่อสร้างสมดุล FFP จึงเปิดไฟเขียวให้ย้ายออกโดยง่าย (พร้อมกับคนอื่นๆ - ถึงตรงนี้ เชลซี ปล่อยแข้งชุดใหญ่แล้ว 7-8 คน และยังจะมีเพิ่มอีก) เท่ากับเป็นอันปิดตำนาน โควาซิช ใน สแตมฟอร์ด บริดจ์ ไว้ที่ 221 นัดซัด 6 ประตู และมีแชมป์ 4 รายการด้วยกัน (ชปล., ยูโรป้าลีก, ซูเปอร์คัพ, สโมสรโลก อย่างละ 1)

นอกนั้น ก็ควรถือว่า เชลซี ออกลูก "ใจดี" มาตลอดช่วงหลัง ด้วยการไม่คิดมากเลยสำหรับการ "ยื่นหอกให้ศัตรู" ไม่ว่าจะดีล โควาซิช กับ แมนฯ ซิตี้, ไค ฮาแวร์ตซ์ กับ อาร์เซน่อล หรือย้อนไปอีกนิดกับ จอร์จินโญ่ ที่โผไป อาร์เซน่อล เช่นกัน

10. ดีลแรกของทีม 3 แชมป์

กับคำถามว่า เมื่อขึ้นสู่จุดสูงสุด แมนฯ ซิตี้ คว้า 3 แชมป์ประวัติศาสตร์แล้ว ควรต้องปรับเปลี่ยนตรงไหนอีกบ้าง

คำตอบแรกสุดก็คือ โควาซิช ที่ได้เข้าไปแทนที่กัปตัน อิลคาย กุนโดกัน โดยตรง แถมรับช่วงเสื้อเบอร์ 8 อีกต่างหาก

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ แมนฯ ซิตี้ จะเร่งปิดดีล โควาซิช ตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยสนนราคา 25 ล้านบวกออปชั่นเสริมอีก 5 ล้านปอนด์ เมื่อ โควาซิช จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับทีมของ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ได้มาก แรกสุดคือราคาดี ถัดมาคือ นักเตะเพิ่งอายุ 29 ยังมีเวลาใช้งานได้อีก 4-5 ปีอย่างต่ำ

สำคัญมากคือ ประสบการณ์ที่ โควาซิช เคี่ยวกรำเป็นที่สุด ผ่านมาแล้วทั้งอิตาลี, สเปน และอยู่ในพรีเมียร์ลีกมาแล้ว 5 ปีด้วยกัน

เป๊ป ยังสามารถวาง โควาซิช ลงตรงไหนก็ได้หมดในแผงกลาง ทั้งตัวรุกแดนบน ตัวรับแเดนล่าง และยังได้ในทุกระบบ ไม่ว่าจะ 3-2-4-1, 3-4-3, 4-3-3, 4-4-2 ฯลฯ ขอให้บอกเถอะ โควาซิช จัดให้ได้หมด

และเห็นย้ายมาเงียบๆ ปิดดีลอย่างรวดเร็ว แถมไม่ได้เป็นข่าวพาดหัวใหญ่โตโอ้โหเฮะ

แต่ดีไม่ดี นี่อาจเป็นหนึ่งในการเซ็นสัญญาที่ดีที่สุดของซัมเมอร์นี้ แบบที่ไม่ทำให้แฟนๆ เรือใบต้องคิดถึง กุนโดกัน แต่อย่างใด...