5 ประเด็นต้องจับตา ก่อนศึกผ่าเมือง แมนยู บู๊ แมนซิตี้ ชิงโล่ คอมมิวนิตี้ ชิลด์ 2024 - FEATURE

• เสาร์นี้ คอมมิวนิตี้ ชิลด์ 2024 ได้ฤกษ์สาดแข้ง
• น่าสนใจเป็นพิเศษว่าคือ แมนเชสเตอร์ดาร์บี้ ระหว่าง ซิตี้ กับ ยูไนเต็ด
• และนี่คือ 5 ประเด็นน่าจับตา สำหรับศึกผ่าเมืองที่เวมบลีย์ นัดนี้
Manchester City v Manchester United - Emirates FA Cup Final
Manchester City v Manchester United - Emirates FA Cup Final / Visionhaus/GettyImages
facebooktwitterreddit

มาถึงแล้วกับ คอมมิวนิตี้ ชิลด์ 2024 เกมชิงโล่การกุศล แมตช์อันเป็นธรรมเนียมของฟุตบอลอังกฤษ ว่าคือการ "เตรียมตัว" ขั้นสุดท้ายก่อน พรีเมียร์ลีก ฤดูกาลใหม่จะรูดม่านเปิดฉากใน 1 สัปดาห์ให้หลัง ซึ่งเสาร์ 10 ส.ค. นี้ที่เวมบลีย์ น่าจับตาเป็นพิเศษเมื่อเป็น "แมนเชสเตอร์ดาร์บี้" ระหว่างเก่งใหญ่ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ กับเก่งเล็ก แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ท่ามกลางหลากหลายประเด็นที่ต้องจับตามอง ดังนี้...


ประตูเรือ...เปลี่ยนแล้วเปลี่ยนเลย?

ท่ามกลางการไม่พร้อมรบของขุนพลเรือใบ ชุดผ่านเข้าชิง ยูโร 2024 อย่าง โรดรี้, ฟิล โฟเด้น, ไคล์ วอล์คเกอร์ และ จอห์น สโตนส์ ว่ากันว่า 11 ตัวจริงที่ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า เตรียมจัดลงสนาม จะออกมาด้วยหน้าตาของ "ทีมผสม" ตัวจริงบ้างสำรองบ้าง และมีดาวรุ่งเช่น ออสการ์ บ๊อบบ์ กับ ริโก้ ลูอิส แทรกลงด้วย

แต่หนึ่งในการจัดทีมที่เป็นจุดน่าสนใจที่สุด อาจอยู่ที่ตำแหน่ง "ผู้รักษาประตู"

ว่ากันว่า เอแดร์ซอน โมราเอส เจ้าของสถิติรับใช้ทีม 332 นัดในระยะ 7 ปี จะถูกดร็อปจากทีมตัวจริงไป ไม่ใช่แค่เพื่อให้ สเตฟาน ออร์เตก้า ได้โอกาสแบบ "นานๆ ครั้ง" สลับลงในบอลถ้วย เหมือนปีเก่าที่ผ่านมา แต่เป็นเพราะ...

1. เอแดร์ซอน แสดงออกชัดถึงความต้องการย้ายออก จาก เอติฮัด สเตเดี้ยม เพื่อไปหาความท้าทายใหม่ รวมถึงโกยเงินเข้ากระเป๋าในตะวันออกกลาง โดยรายงานหลายๆ ชิ้นระบุว่า เจ้าตัวพร้อมเสมอในการตอบรับข้อเสนอจาก อัล-นาสเซอร์ และต่อมา อัล-อิตติฮัด แต่ดีลทั้งสองมีอันต้องล่มไปด้วยเพราะกำแพงค่าตัวที่ แมนฯ ซิตี้ ตั้งไว้อย่างโหด ระดับครึ่งร้อยล้านปอนด์

2. ต่อเนื่องจากข้อแรก ส่งผลถึง "สมาธิที่กระเจิดกระเจิง" ของนายด่านบราซิเลียนวัย 30 จนฟอร์มไม่ค่อยจะสู้ดีในเกมปรีซีซั่น เช่นนัดที่โดน เอซี มิลาน เชือด 3-2 หรือโดน บาร์เซโลน่า เจาะ 2 ตุง และ เป๊ป เลือกถอดออกทันทีเมื่อเริ่มต้นครึ่งหลัง ก่อนจบเกมด้วยผลเสมอ 2-2

และ 3. ออร์เตก้า นี่แหละ "มือหนึ่ง" คนใหม่สำหรับเป๊ป!

เพราะควบคู่กันไปกับมาตรฐานที่ "อ่อม" ลง รวมถึงการเกิดปัญหาบาดเจ็บเป็นระยะของนายด่านแซมบ้า ก็เป็น ออร์เตก้า นี่เองที่ลงทำหน้าที่แทน รวม 20 นัดในทุกรายการของซีซั่นก่อน และถือว่าประตูเยอรมันวัย 31 "สอบผ่าน" ฉลุยฉุยฉาย สบายหายห่วง

โดยเฉพาะช็อตโคตรเซฟ ป้องกันลูกหลุดเดี่ยวเข้าล่อเป้าของ ซน ฮึง-มิน (สเปอร์ส 0-2 แมนฯ ซิตี้) ซึ่งว่ากันว่าเป็น "วินาทีสำคัญ" ทำให้ เป๊ป ออกอาการใจเอนโอนเอียงตั้งแต่ตอนนั้น

ครั้นมาเกิดเคสอยากย้ายและฟอร์มหลุดๆ ของ เอแดร์ซอน ในซัมเมอร์นี้ ก็ทำให้ เป๊ป ตัดสินใจเด็ดขาดแล้วว่า ออร์เตก้า นี่แหละ มือหนึ่งคนใหม่ของ ซิตี้

เริ่มต้นตั้งแต่ คอมมิวนิตี้ ชิลด์ เป็นต้นไป

ใช่ไม่ใช่...รอดู

Stefan Ortega, Ederson
Tottenham Hotspur v Manchester City - Premier League / Justin Setterfield/GettyImages

อองเดร โอนาน่า

ในเวลาเดียวกัน หว่างเสาของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน

ไม่ใช่เรื่องของความเปลี่ยนแปลง เมื่อต่อให้แผ่นดินจะไหว พายุจะเข้า ฟ้าถล่มดินทลาย เอริค เทน ฮาก ก็ไม่มีวันเปลี่ยนใจไปจาก อองเดร โอนาน่า อยู่แล้ว -- น่าหงุดหงิดแทน อัลตาย บายินดีร์ ที่ไม่รู้จะย้ายมาทำไม หนึ่งปีผ่านไปได้ลงเล่น 1 นัดถ้วน

แต่ก็คือการโชว์ฟอร์มของ โอนาน่า เองนั่นแหละ

ไม่กี่วันก่อน "เดอะ คอนเทนต์ แมน" เพิ่งจะป่าวประกาศเสียงดังฟังชัด ว่าซีซั่นใหม่นี้ตัวเขาจะ "เล่นเสี่ยง" เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย เสี่ยงเป็นเสี่ยงกัน มากขึ้นอีก

...ก็น่าตลกดี ว่าแทนที่จะบอกว่าตัวเองจะปรับปรุงฝีมือ ให้เหนียวแน่นขึ้น เซฟได้เยอะขึ้น ให้กองหลังไว้วางใจได้มากขึ้น ไม่ใช่ตรงเป็นตุงเหมือนปีแรก ก็ดันบอกว่าจะเล่นเสี่ยง สร้างสีสันให้มากขึ้นเสียอย่างนั้น

ที่สำคัญ หากสมมุติ แมนฯ ซิตี้ ได้จุดโทษในระหว่างเกม หรือ 90 นาทีกินกันไม่ลง ต้องตัดสินด้วยการดวลจุดโทษ โอนาน่า จะกล้าๆ งัดท่าชี้โบ๊ชี้เบ๊ "ยิงตรงนี้สิเพื่อนรัก" ออกมาใช้อีกหรือไม่ หลังเรียกเสียงฮือและเสียงฮาได้อย่างสนั่นหวั่นไหว ในเกมปรีซีซั่นกับ อาร์เซน่อล (แพ้ 1-2 ในเกม, ชนะดวลเป้า 4-3) สิ้นเดือนที่แล้ว

จับตาดูกันที่เวมบลีย์ จะมีอะไรดีๆ จาก โอนาน่า หรือไม่อย่างไร

FBL-FIRENDLY-MAN UTD-ARSENAL
FBL-FIRENDLY-MAN UTD-ARSENAL / PATRICK T. FALLON/GettyImages

เกมสั่งลา อัลวาเรซ

103 นัด 36 ประตู 6 โทรฟี่แชมป์

จากการซื้อเข้าด้วยราคาเบาหยอง 14 ล้านปอนด์ กำลังจะย้ายออกด้วยมูลค่า 75+20 ล้านยูโร

ชัดเจนว่า ฮูเลียน อัลวาเรซ คือ "ซูเปอร์ดีล" ที่ แมนฯ ซิตี้ ประสบความสำเร็จแบบได้ทั้งเงินทั้งกล่อง

ตามรายงานจาก ฟาบริซิโอ โรมาโน่ และสื่อเจ้าอื่น ต่างการันตีว่าเหลือเพียงการ "นับถอยหลัง" ให้ดาวยิงอาร์เจนไตน์ ตกลงสัญญาส่วนตัวกับ แอตเลติโก มาดริด ได้เท่านั้น เป็นอันประทับตรา "OFFICIAL" ที่เป็นขั้นกว่าของ "HERE WE GO!" ได้เลย

ส่วนถ้าถามว่าทำไม แมนฯ ซิตี้ ถึงได้ตอบตกลงขาย อัลวาเรซ พ้นไป ทั้งที่ เป๊ป เคยออกปากยืนยันว่านักเตะยังคงมีส่วนสำคัญในแผนการทำทีมของเขา ตอบได้ง่ายๆ ว่าก็เพราะเรื่องเงินนั่นเอง การทำกำไรหลายเท่าตัว และการนำเงินเข้าสโมสรเพื่อสร้างสมดุลสำหรับกฎ FFP

แมนฯ ซิตี้ อาจสูญเสียตัวรุกสารพัดประโยชน์ ที่เล่นได้หมดทั้งตัวจบสกอร์และริมเส้นและกลางรุก ออกไป แต่ก็ใช่ว่าจะปั้น "ตัวใหม่" มาแทนที่ไม่ได้ -- กระทั่งจะเจียดสักก้อนไปหาซื้อหอกใหม่ (เพื่อมานั่งสำรอง เออร์ลิ่ง เบราท์ ฮาแลนด์) ก็ไม่น่าใช่เรื่องยาก

ฉะนั้น เสาร์นี้ คงถือได้ว่าเป็นเกมสั่งลา ฮูเลียน อัลวาเรซ

ที่ไม่มีชื่อ อัลวาเรซ ทั้งตัวจริงและสำรอง!

FBL-EUR-ENG-PR-MAN CITY-PARADE
FBL-EUR-ENG-PR-MAN CITY-PARADE / DARREN STAPLES/GettyImages

นับหนึ่งกับ เซิร์คซี

ตรงกันข้ามกันที่มุมแดง ตำแหน่งกองหน้าก็เป็นจุดที่น่าจับตาเช่นกัน

แรกสุดคือใครจะลงตัวจริงที่หน้าเป้า ซึ่ง ณ ตอนนี้กระแสเทไปทาง เจดอน ซานโช่ ในฐานะตัวเลือกฉุกเฉิน เมื่อ ราสมุส ฮอยลุนด์ เจ็บต้องพัก ส่วน มาร์คัส แรชฟอร์ด เอาดีกับตำแหน่งนี้ไม่ได้แล้ว กลายเป็นริมเส้นโดยสมบูรณ์

กับการรีเทิร์นจูบปาก เทน ฮาก และบททดสอบยากๆ อย่างแผงหลัง แมนฯ ซิตี้ นั้น ซานโช่ จะทำได้ดีขนาดไหนอย่างไร

และสอง เมื่อเกมดำเนินไปจนถึงเวลาอันเหมาะสม ก็คงจะเป็นโอกาสของ "หอกป้ายแดง" โยชัว เซิร์คซี ถูกส่งลงประเดิมนัดแรกกับ แมนยู

แม้จะเริ่มต้นซ้อมกับทีมใหม่ได้พักใหญ่ แต่หอกดัตช์เจ้าของค่าตัว 36.5 ล้านปอนด์ ก็ไม่ได้ร่วมเดินทางไปเตะปรีซีซั่นที่สหรัฐอเมริกาด้วย เนื่องจากเพิ่งผ่านการเล่นใน ยูโร 2024 มา เช่นเดียวกับสมาชิกเก่าปีศาจแดงอย่าง บรูโน่ แฟร์นันเดส, ลุค ชอว์ หรือ ดีโอโก้ ดาโล่ต์

เซิร์คซี เข้ารายงานตัวและฝึกซ้อมอยู่ที่แคร์ริงตันเท่านั้น ไม่เดินทางตามไปสหรัฐฯ เนื่องจากต้องการเรียกระดับความฟิตให้ถึงพร้อมต่อการลุย พรีเมียร์ลีก ซีซั่นใหม่

ดังนั้น เกมแรกสุดของ เซิร์คซี ในสีเสื้อปีศาจแดง ก็คือวันเสาร์นี้

ยังไม่รู้หรอกว่า อดีตเด็กปั้น บาเยิร์น มิวนิค เจ้าของส่วนสูง 193 ซม. ซึ่งมีผลงานยิง 12 ประตูกับ โบโลญญ่า ในซีซั่นที่ผ่านมา จะไปได้สวยหรือไม่ทั้งระยะสั้นและระยะยาว แต่ก็น่าลุ้นว่าจะเวิร์ค เมื่ออยู่ในการปลุกปั้นของอดีตจอมถล่มประตูอย่าง รุด ฟาน นิสเตลรอย

เพียงแต่เสาร์นี้ ถ้าเดี้ยงประเดิมซ้ำรอย เลนี่ โยโร่ ขึ้นมา ก็ตัวใครตัวมัน

ถ้วยนี้... ซิตี้ ไม่เอา?!?

  • ทำเนียบแชมป์ คอมมิวนิตี้ ชิลด์ 10 ปีหลังสุด
    2014 - อาร์เซน่อล (3-0 แมนฯ ซิตี้)
    2015 - อาร์เซน่อล (1-0 เชลซี)
    2016 - แมนฯ ยูไนเต็ด (2-1 เลสเตอร์)
    2017 - อาร์เซน่อล (ชนะจุดโทษ เชลซี)
    2018 - แมนฯ ซิตี้ (2-0 เชลซี)
    2019 - แมนฯ ซิตี้ (ชนะจุดโทษ ลิเวอร์พูล)
    2020 - อาร์เซน่อล (ชนะจุดโทษ ลิเวอร์พูล)
    2021 - เลสเตอร์ ซิตี้ (1-0 แมนฯ ซิตี้)
    2022 - ลิเวอร์พูล (3-1 แมนฯ ซิตี้)
    2023 - อาร์เซน่อล (ชนะจุดโทษ แมนฯ ซิตี้)

อาถรรพ์ที่ขึ้นชื่อเสมอมาสำหรับ คอมมิวนิตี้ ชิลด์ ก็คือแชมป์โล่การกุศลใบนี้ มักไปไม่ถึงแชมป์ พรีเมียร์ลีก ในตอนท้ายที่สุดอยู่ร่ำไป

เรื่องนี้ ที่จริงอาจตีความได้ว่าคงแค่บังเอิญนั่นแหละ เมื่อความแตกต่างระหว่างบอล 90 นาที กับเกมลีก 8-9 เดือน มันชัดเจนอยู่แล้วโดยไม่ต้องสาธยาย

แต่เมื่อดูจากหน้าตาแชมป์ในช่วงที่ผ่านมา ก็ "เข้าข่าย" เรื่องบังเอิญนี้อยู่เหมือนกัน

สำคัญคือ แมนฯ ซิตี้ เองนี่แหละ ว่า 3 ปีหลังมานี้ พวกเขาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ใน คอมมิวนิตี้ ชิลด์ ทั้งสิ้น แล้วก็ไปขึ้นบัลลังก์ พรีเมียร์ลีก ตอนจบซีซั่น ทั้งสิ้นเหมือนกัน

อาจไม่ใช่ว่า เป๊ป กวาร์ดิโอล่า สั่งลูกทีมลงไปแพ้ อย่างซีซั่นก่อนก็เกือบจะชนะ อาร์เซน่อล อยู่แล้ว แต่ดันมาโดนลูกผีจับยัดของ เลอันโดร ทรอสซาร์ เข้าเสียก่อนตอนทดเจ็บ 90+11 จนต้องมาดวลจุดโทษแล้วจึงค่อยแพ้ 1-4

ไม่ได้ตั้งใจแพ้...แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้เน้นมากมาย แมนฯ ซิตี้ ตีค่ารายการนี้เอาไว้เป็นเหมือนเกม "ปรีซีซั่น" นัดหนึ่งเท่านั้น

ปรีซีซั่น ที่มีไว้เพื่อทดลองแท็กติก ทดสอบตัวผู้เล่น ส่วนผลการแข่งขันไม่ใช่เรื่องสำคัญ

เรื่องนี้ จริงเท็จหรือไม่อย่างไร รอดูกันได้เสาร์นี้

และแม้ว่าอาถรรพ์นั่นจะไม่มีอยู่จริง แต่ถ้า แมนฯ ซิตี้ แพ้เกมนี้--แล้วเข้าป้ายยึดแชมป์ลีกได้เหมือนที่เคยเป็นมา

เป๊ปและสาวกเรือ คงยิ้มรับมันอย่างเต็มใจ

FBL-FRIENDLY-MAN CITY-CHELSEA
FBL-FRIENDLY-MAN CITY-CHELSEA / KAMIL KRZACZYNSKI/GettyImages