ล้วงลึกบทบาทของ เอดู ชายผู้อยู่เบื้องหลังการซื้อขายนักเตะของ อาร์เซนอล - FEATURE

• เอดู กาสปาร์ เคยเป็นนักเตะของอาร์เซนอลมาก่อนในช่วงปี 2000-2005

• เข้าสู่วงการบริหารในวงการฟุตบอลตั้งแต่ปี 2010 โดยผ่านการทำงานมาแล้วในระดับสโมสร และทีมชาติ

"All Or Nothing: Arsenal" Global Premiere – Arrivals
"All Or Nothing: Arsenal" Global Premiere – Arrivals / Lia Toby/GettyImages
facebooktwitterreddit

เอดู กาสปาร์ ผู้อำนวยการกีฬาของสโมสร อาร์เซนอล มีการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ เอสตาเดา (Estadao) สื่อในประเทศบราซิล เกี่ยวกับเรื่องของบทบาการทำงานของเขากับ ปืนใหญ่ ซึ่งน่าสนใจและทำให้ผู้เขียนเลือกมาแปลให้แฟนบอลได้อ่านกัน

เอดู เข้ามารับงานกับ อาร์เซนอล เข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว หลังจากเริ่มต้นเข้ามาทำงานในฐานะของผู้อำนวยการด้านเทคนิคของสโมสรในปี 2019 ภายในการทำงานร่วมกับ ราอูล ซาเนฮี อย่างไรก็ตามการออกจากทีมไปของ ซาเนฮี ในช่วงต้นปี 2020 ก็ทำให้เขาขึ้นมารับงานดูแลด้านการซื้อขาย และบริหารจัดการเบื้องหลังของทีมแทน จนกระทั่งในปี 2022 ได้รับการโปรโมทให้เป็นผู้อำนวยการกีฬาของสโมสร


ภาพรวมการทำงานของ “เอดู กาสปาร์”

  • ทำงานดูแลเรื่องของการซื้อขาย ร่วมกับแผนกภายในองค์กรที่มีทั้ง STATDNA ชุดข้อมูลที่สโมสรซื้อเข้ามาใช้งานในการเก็บสถิติตัวเลขของนักเตะทั่วโลก ซึ่งซื้อมาตั้งแต่ในปี 2012 และ ทีมงานแมวมองของทีม
  • หลังการรับงานเต็มตัว เมื่อเข้าสู่ฤดูกาล 2020-2021 ทีมมีการปรับการทำงานของ มิเคล อาร์เตต้า จาก “โค้ช” กลับมาเป็น “ผู้จัดการทีม” และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการซื้อขายนักเตะของทีม
  • ตามโครงสร้างของทีม เอดู กาสปาร์ จะทำงานร่วมกับ ริชาร์ด การ์ลิค, มิเคล อาร์เตต้า, ทิม ลูอิส, จอช โครเอนเก้ รวมถึง วิไน เวนกาเทสเซม ซึ่งเพิ่งตัดสินใจลาออกไปเมื่อจบฤดูกาลที่ผ่านมา โดยยังไม่มีการประกาศการปรับโครงสร้างใหม่ หรือรับคนใหม่เข้ามาแทนที่
  • สโมสรไม่ได้รับเงินตรงจาก “ตระกูลโครเอนเก้” แต่จะเป็นการหาเงินเข้าสู่สโมสร ตามระบบของสโมสรภายใต้เงื่อนกฎการเงินของพรีเมียร์ ลีก โดยจะมีในส่วนของการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากผู้ถือหุ้นใหญ่ของสโมสร นั่นคือ สแตน โครเอนเก้ ผู้ซึ่งให้ จอช ลูกชายของตนเข้ามาดูแลโดยตรงที่อังกฤษ

ในช่วง 2 ปีแรกของเอดู (2020-2022) เป็นช่วงสถานการณ์ที่ยากลำบากไม่น้อย การเซ็นสัญญานักเตะของพวกเขาไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ด้วยหลากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็น การเข้ามาทำทีมของ มิเคล อาร์เตต้า ในช่วงแรกที่ยังไม่สามารถเซตระบบได้ลงตัว, คุณภาพของนักเตะภายในทีมที่ต้องเรียนรู้การทำงานและระบบการเล่นที่อาร์เตต้าต้องการ ไปจนถึงเรื่องของการที่ทีมจบด้วยอันดับ 8 ในฤดูกาล 2020-2021 ที่ทำให้การได้นักเตะคุณภาพระดับท็อปเป็นเรื่องยากมากสำหรับทีม

อย่างไรก็ตามหลังจากที่ทุกอย่างเริ่มลงตัวมากขึ้น ฤดูกาล 2022-2023 และ 2023-2024 การลงทุนที่ถูกทาง และผลงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง นักเตะที่เข้ามาสู่ทีมเริ่มสร้างผลงานได้คุ้มค่ากับการลงทุน โดยเฉพาะในฤดูกาลที่ผ่านมา แม้ว่าทีมจะลงทุนมากที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสร ทั้งแบบภาพรวมกับการลงทุนมากกว่า 200 ล้านปอนด์ในตลาดเดียว หรือการเซ็นสัญญานักเตะคนเดียวด้วยมูลค่า 105 ล้านปอนด์ กับ ดีแคลน ไรซ์ ก็ทำให้ทีมยกระดับการเป็นทีมลุ้นแชมป์แบบเต็มตัว ซึ่ง เอดู และทีมงานได้รับเครดิตอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม เจ้าตัวก็ยอมรับว่า การเซ็นสัญญา นักเตะสักคนเป็นเรื่องที่มีหลากหลายปัจจัยในการตัดสินใจ

Mikel Arteta
Arsenal FC v Everton FC - Premier League / James Gill - Danehouse/GettyImages

“การเซ็นสัญญานักเตะมันไม่ใช่แค่เป้าหมายเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น แต่มันคือการทำงานที่ต้องใช้เวลาสัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่า ที่โต๊ะทำงานของผมมีรายงานมากกว่า 180 หน้าสำหรับผู้เล่นหนึ่งคน มันเป็นเรื่องรายละเอียดปลีกย่อย ทั้งสภาพร่างกาย, จิตใจของผู้เล่น ไปจนถึงเรื่องประสบการณ์ในพรีเมียร์ ลีก หรือว่าผู้เล่นคนนั้นจะสามารถปรับตัวเข้ากับพรีเมียร์ ลีก ได้หรือไม่ ทั้งหมดถูกนำมาประเมิน ร่วมกับว่าการประเมินจุดบกพร่อง หรือจุดด้อยของทีมว่า เราจะพัฒนาส่วนใด หรือเราสามารถลงทุนกับตำแหน่งใด และเราจะทำการค้นหาชื่อนักเตะที่เราต้องมานั่งคุยกันตั้งแต่เดือนมกราคม และมันไม่ใช่การตัดสินใจของผมคนเดียว หรือว่า มิเคล อาร์เตต้า คนเดียว มันคือการตัดสินใจของทุกคนที่เกี่ยวข้อง”

สิ่งหนึ่งที่ เอดู พอใจอย่างมากกับการทำงานของตนเองในเวลานี้คือเรื่องเกี่ยวกับการที่เขายืนยันว่าภายใต้ทีมไม่มีปัญหา “การเมืองในองค์กร” และนั่นทำให้มันเป็นการทำงานที่ทำงานด้วยเป้าหมายเดียวกัน

“มันไม่มีการเมืองใด ๆ ไม่มีการแทรกแซงใด ๆ  ผมเคารพและเข้าใจในวิถีการทำงานในบราซิลที่ผมจากมา ผมมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประธานสโมสรโครินเธียนส์ (สโมสรเก่าทั้งสมัยเป็นนักเตะและทีมงานเบื้องหลังของเอดู) แต่การทำงานที่นั่นแตกต่างจากที่อาร์เซนอล ผมรู้สึกเหมือนตัวเองทำงานบริษัท บริษัทฟุตบอล ผมได้มีส่วนร่วม พูดคุยทุกเรื่องของทีม งบประมาณ, การลงทุน, การเงิน ทุกอย่างเลย ส่วนสมัยที่ผมทำงานในบราซิล อาจเพราะผมยังมือใหม่ และเพิ่งเริ่มต้นการทำงานสายนี้ ทุกเรื่องอาจจะไม่ได้ผ่านมาที่ผมทั้งหมด ผิดกับที่อาร์เซนอล ซึ่งผมได้ทำอะไรมากมาย”

Josh Kroenke, Tim Lewis, Edu
Manchester City v Arsenal FC - Premier League / Robbie Jay Barratt - AMA/GettyImages

“ผมมีความสุขกับที่นี่ ในเวลาเดียวกันผมก็ถามตัวเองบ่อยครั้งมาก ผมกำลังได้ใช้ชีวิตในแบบที่ผมฝันมาตลอด ผมไม่มีความคิดจะกลับไปทำงานในบราซิลเลย ผมคงไม่บอกว่า “ไม่มีวัน” แต่ตอนนี้ผมไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้เลย ผมต้องการทำงานที่นี่ต่อ บางทีอาจจะถึงขั้นรีไทร์การทำงานกับที่นี่เลยก็ได้ ยังไม่ได้คิดอะไรมากนัก ผมเคยคว้าแชมป์มาแล้วสมัยเป็นผู้เล่น แต่ตอนนี้สิ่งเดียวที่ผมขาดอยู่ในการบริหารงานคือการคว้าแชมป์พรีเมียร์ ลีก”

“มันเป็นความรู้สึกที่ประหลาดใจเหมือนกันนะ แปลกประหลาดใจมาก เราจบฤดูกาลนี้ในแบบที่เรารู้สึกว่าเราได้ทำทุกอย่างที่เหมาะสมและถูกต้องไปทั้งหมดแล้ว ตั้งแต่การเซ็นสัญญานักเตะ หรือการต่อสัญญาใหม่กับนักเตะ มิเคล ทำงานอย่างยอดเยี่ยม และบรรลุเป้าหมาย เราทำทุกอย่างที่เราสามารถทำได้แล้ว เพียงแต่มันไม่เพียงพอ มันถึงน่าหงุดหงิด บนความรู้สึกในแง่บวก นั่นคือขั้นตอนที่ทำได้ตามขั้นตอนเป็นอย่างดี การทำงานของพวกเรายอดเยี่ยมมาก”


อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของทีม อาร์เซนอล ได้ที่นี่