สารพัดสถิติจากเกม ผีโกงตายไม่ยอมตาย แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด พลิกสกอร์ตามหลัง 0-2 มาชนะ แอสตัน วิลล่า 3-2 - FEATURE
• แต่การ 'โกงความตาย' ก็ยังคงเป็นเครื่องหมายการค้าของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อยู่เสมอ
• และนี่คือสารพัดสถิติจากเกมพลิกชนะ แอสตัน วิลล่า 3-2 บ๊อกซิ่งเดย์เมื่อวันอังคาร
เพราะทั้งตามหลัง 0-2 ในครึ่งแรก แบบที่แต่ละลูกถือว่า "เสียง่าย" เหลือเกิน อีกทั้งประตูตีไข่แตกของ อเลฮานโดร การ์นาโช่ ยังถูกริบจากการฟ้องล้ำหน้าของ VAR ทำให้แม้แต่แฟนบอล แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เองก็ยังคิดว่า เกมนี้...ซี้แหงแก๋ กระนั้น การ "โกงความตาย" ก็ยังคงเป็นเครื่องหมายการค้าของทีมผีแดงอยู่เสมอ จนในที่สุดก็แซงชนะ แอสตัน วิลล่า ได้สำเร็จ 3-2 และนี่คือสถิติน่าสนใจหลายๆ แง่ ที่หยิบจับได้จากเกมสุดมันส์นัดนี้
หนที่ 14
นี่คือครั้งที่ 14 แล้วของ แมนฯ ยูไนเต็ด ที่สามารถแซงชนะคู่แข่งได้ใน พรีเมียร์ลีก ภายหลังตกเป็นรองด้วยสกอร์ 2 ประตูขึ้นไป โดยมากกว่าทุกสโมสร 5 เกมเป็นอย่างน้อย
1,026 นาที
คือเวลาที่ ราสมุส ฮอยลุนด์ ใช้ไปใน พรีเมียร์ลีก จนกระทั่งทำประตูแรกของเขาได้สำเร็จ โดยเป็นการลงเล่นลีกอังกฤษนัดที่ 15 และจากการสับไกยิงหนที่ 19 ของหอกดาวรุ่งเดนมาร์ก เจ้าของค่าตัว 64+8 ล้านปอนด์จาก อตาลันต้า
ราสมุส ฮอยลุนด์
จากบันทึกสถิติเป็นทางการของ พรีเมียร์ลีก พบว่า ราสมุส ฮอยลุนด์ ลงสนามไป 15 นัด มียิง 1 ประตู ช่วยให้ แมนฯ ยูไนเต็ด เอาชนะได้ 7 เกม เสมอ 1 และแพ้อีก 7 นัด
- และนี่คือสถิติแบบลงลึกของเขา
- ลงสนาม 15
- ตัวจริง 12
- สำรอง 3
- ประตู 1
- โอกาสยิง 19
- ยิงตรงกรอบ 8
- เปอร์เซ็นต์ความแม่นยำ 42%
- พลาดโอกาสทอง 9
- จ่ายบอล 162
- จ่ายเฉลี่ยแต่ละเกม 10.8
- โยนบอล 4
- ล้ำหน้า 7
- เสียฟาวล์ 7
- ใบเหลือง 1
- เสียบสกัด 4
- บล็อกลูกยิง 3
- เคลียร์บอล 10
- เคลียร์ด้วยลูกโหม่ง 6
อันดับ 92
จากการยิง 19 ครั้งเป็น 1 ประตูของ ราสมุส ฮอยลุนด์ ข้อเท็จจริงที่แฝงอยู่คือ เขาอยู่ไกลถึง "อันดับที่ 92" ของนักเตะที่ได้โอกาสยิงประตูใน พรีเมียร์ลีก ประจำซีซั่นนี้ โดยจนถึงตอนนี้ (ก่อนเกมวันพุธ 27 ธ.ค.) นักเตะที่ได้ยิง 19 ครั้ง มีแค่ ฮอยลุนด์ กับ นิโกโล่ ซานิโอโล่ (วิลล่า) เท่านั้น ในขณะที่ท็อปชาร์ตโอกาสยิง ประกอบด้วย
- 61 ครั้ง : โดมินิก โซลันกี้ (บอร์นมัธ, 12 ประตู)
59 ครั้ง : โมฮาเหม็ด ซาลาห์ (ลิเวอร์พูล, 12)
58 ครั้ง : เออร์ลิ่ง ฮาแลนด์ (แมนฯ ซิตี้, 14)
53 ครั้ง : โอลลี่ วัตกิ้นส์ (วิลล่า, 9)
50 ครั้ง : ดาร์วิน นูนเยซ (ลิเวอร์พูล, 5)
3-3-3
นี่คือเกมที่ แมนฯ ยูไนเต็ด กลับมาส่องตาข่ายได้อีกครั้งหลังจากฝืดสนิทไป 3 นัดซ้อน (0-3 บอร์นมัธ, 0-0 ลิเวอร์พูล, 0-2 เวสต์แฮม) และเมื่อยิงได้แล้วก็จัดให้ถึง 3 ประตู ซึ่งนับเป็นเพียงหนที่ 3 เท่านั้นของ พรีเมียร์ลีก ซีซั่นนี้ ที่พวกเขาชนะใครได้แบบยิง 3 ลูก ถัดจากเกมชนะ น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ 3-2 (คริสเตียน เอริคเซ่น, กาเซมิโร่, บรูโน่ แฟร์นันเดส จุดโทษ) และชนะ เอฟเวอร์ตัน 3-0 (อเลฮานโดร การ์นาโช่, มาร์คัส แรชฟอร์ด จุดโทษ, อองโตนี่ มาร์กซิยาล)
ทั้งนี้ ชัยชนะ 4-0 ขึ้นไปของ แมนยู ซีซั่นนี้... ยังไม่มี
ลูกที่ 10
ด้าน อเลฮานโดร การ์นาโช่ ปีกเด็ก 19 อาร์เจนไตน์ พังประตูที่ 6 แล้วในการเล่น พรีเมียร์ลีก 38 นัด โดยเป็นของซีซั่นที่แล้ว 3 ลูก ซีซั่นนี้อีก 3 ลูก แต่ก็นับเป็นการ "ซัดสอง" ในเกมเดียว หนแรกสุด ...น่าเสียดายที่ประตูแรกโดนริบไปเนื่องจากล้ำหน้าตัวจ่ายอย่าง มาร์คัส แรชฟอร์ด แค่เส้นยาแดง ไม่เช่นนั้นอาจมีแฮตทริกไปแล้ว
ส่วนถ้านับรวมทุกรายการ การ์นาโช่ จัดให้แล้ว 10 ประตู ซีซั่นก่อน 5 ซีซั่นนี้มาถึงครึ่งทาง ก็กดแล้ว 5
แอสซิสต์ที่ 2
มาร์คัส แรชฟอร์ด ทำแอสซิสต์ให้ การ์นาโช่ ยิงได้ในลูกตีไข่แตก 1-2 ช่วงนาที 59 ซึ่งนับเป็นแอสซิสต์ที่ 2 ในการเล่น พรีเมียร์ลีก ซีซั่นนี้ (18 นัด) ของหัวหอกเด็กปั้น แมนฯ ยูไนเต็ด ถัดจากที่ทำไว้ 1 แอสซิสต์ในเกมขนะ ฟอเรสต์ 3-2 เมื่อเดือน ส.ค.
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการทำประตู แรชฟอร์ด นิ่งสนิทมา 6 เกมติด นับแต่ยิง เอฟเวอร์ตัน (3-0) และยอดพังตาข่ายก็สะดุดอยู่ที่ 2 ลูกจาก 18 นัด แตกต่างราวฟ้ากับเหวจากซีซั่นก่อนที่ซัด 17 ประตูในลีก และ 30 เม็ดทุกรายการ
ทีมนี้ผีรับกิน
ชัยชนะเหนือ แอสตัน วิลล่า 3-2 ล่าสุดนี้ ทำให้การเปิด โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด รับมือทีมสิงห์ผงาด 11 หนหลังสุด (มีเว้นวรรรคช่วงที่ วิลล่า ตกชั้น 2017-2019) จบลงด้วยชัยชนะของ แมนฯ ยูไนเต็ด ถึง 9 ครั้ง ที่เหลือเสมอ 1 และ แอสตัน วิลล่า ควัก 3 แต้มกลับออกไปได้แค่ 1 หนเท่านั้น (2021/22)
- 2010/11 แมนฯ ยูไนเต็ด ชนะ 3-1
2011/12 แมนฯ ยูไนเต็ด ชนะ 4-0
2012/13 แมนฯ ยูไนเต็ด ชนะ 3-0
2013/14 แมนฯ ยูไนเต็ด ชนะ 4-1
2014/15 แมนฯ ยูไนเต็ด ชนะ 3-1
2015/16 แมนฯ ยูไนเต็ด ชนะ 1-0
2019/20 เสมอ 2-2
2020/21 แมนฯ ยูไนเต็ด ชนะ 2-1
2021/22 แอสตัน วิลล่า ชนะ 1-0
2022/23 แมนฯ ยูไนเต็ด ชนะ 1-0
2023/24 แมนฯ ยูไนเต็ด ชนะ 3-2
7 และ 7
ในตารางคะแนน พรีเมียร์ลีก หลังจบเกมวันอังคาร แมนฯ ยูไนเต็ด รั้งอันดับ 6 โดยถือว่ายังคงมีลุ้นท็อปโฟร์ ด้วยการตามหลังอันดับ 4 สเปอร์ส แค่ 5 คะแนน ก่อนทีมไก่เดือยทองลงเล่นวันพฤหัสบดี (พบ ไบร์ทตัน)
แต่สำหรับตาราง "ผลงานเหย้าและเยือน" แมนยู ของ เอริค เทน ฮาก ยืนอันดับ 7 ในทั้งสองด้าน ซึ่งถือว่า "กลางๆ" ไม่ดีและไม่แย่
เหย้า : เตะ 10 ชนะ 6 แพ้ 4 (ยิง 13 เสีย 16) แต้ม 18
เยือน: เตะ 9 ชนะ 4 เสมอ 1 แพ้ 4 (ยิง 8 เสีย 9) แต้ม 13
ในขณะที่ แอสตัน วิลล่า นำมาเป็นเบอร์ 1 ในแง่ผลงานเกมเหย้า ที่ชนะ 8 เสมอ 1 จาก 9 นัด (25 แต้ม) และ ลิเวอร์พูล เป็นเบอร์ 1 เรื่องของเกมเยือน ที่เก็บไปได้ 19 แต้มจาก 10 เกม (ชนะ 5 เสมอ 4, เอาจริงๆ ก็ไม่ได้ดีมาก)
59.55%
ในภาพรวม แน่นอนว่า เอริค เทน ฮาก ทำได้แย่กับการทำทีม แมนฯ ยูไนเต็ด เป็นปีที่ 2 เมื่อหลายๆ สิ่งเป็นไปแบบไม่สวยอย่างที่ควรจะเป็น
จนถึงตอนนี้ กุนซือดัตช์ทำทีมปีศาจแดงลงสนามวานนี้เป็นเกมที่ 89 ได้ผลชนะ 53 เสมอ 11 และแพ้ 25 นัด (แชมป์ 1 รายการ) โดยที่เปอร์เซ็นต์ชนะอยู่ที่ 59.55%
ในแง่นี้ ยังถือว่า เทน ฮาก ทำได้ดีกว่ากุนซือถาวรของ แมนฯ ยูไนเต็ด หลายๆ รายในช่วงทศวรรษหลัง
- - เดวิด มอยส์ 52.94%
- หลุยส์ ฟาน กัล 52.43%
- โชเซ่ มูรินโญ่ 58.33%
- โอเล่ กุนนาร์ โซลชา 54.17%
เหนื่อยอีกนิด จะได้พักหายใจหายคอ
- 30/12/23 เยือน น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ (พรีเมียร์ลีก)
08/01/24 เยือน วีแกน แอธเลติก (เอฟเอ คัพ)
14/01/24 เหย้า ท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์ (พรีเมียร์ลีก)
01/02/24 เยือน วูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ส (พรีเมียร์ลีก)
อีก 1 เกมส่งท้ายปีเก่า 2023 แมนฯ ยูไนเต็ด จะออกไปเยือน ซิตี้ กราวน์ด เสาร์นี้ ฟัดกับทีมเจ้าป่าเป็นนัดที่ 20 ของ พรีเมียร์ลีก ซีซั่นนี้
จากนั้นสุดสัปดาห์แรกของปีใหม่ 2024 (ที่จริงคือต้นสัปดาห์ที่ 2) คืนจันทร์ 8 ม.ค. จะเริ่มต้นภารกิจในบอลถ้วย เอฟเอ คัพ รอบ 3 ที่จะพับกบ วีแกน แอธเลติก ที่เวลานี้คลุกฝุุ่นอยู่ใน ลีก วัน
ปิดท้ายด้วย 1 เกมถ้วนๆ ของ พรีเมียร์ลีก ในเดือน ม.ค. ที่ผีจะฟัดไก่ เปิดบ้านเจอ สเปอร์ส อาทิตย์ 14 ม.ค.
ถัดจากนั้น จะเข้าสู่ช่วง "เบรคหนีหนาว" สำหรับทัพปีศาจแดง ซึ่งกินเวลาราวๆ 2 สัปดาห์ ก่อนกลับมาเซย์ฮัลโหลลงเล่นครึ่งซีซั่นหลังกันใหม่ เริ่มต้นที่ทริปเยือน วูล์ฟส์ 1 ก.พ.
เท่ากับลุยต่ออีก 3 นัด จะได้พักเบรคผ่อนคลายความตึงเครียดกันแล้ว และเราคงได้เห็นว่า แมนฯ ยูไนเต็ด ชุดลุยครึ่งซีซั่นหลัง จะมีทิศทางและหน้าตาปรับเปลี่ยนไปอย่างไร ภายใต้การมาของผู้บริหารคนใหม่อย่าง เซอร์ จิม แรทคลิฟฟ์