ไม่เนี้ยบ = ไม่ถึงไหน : เดนมาร์ก กับก้าวที่ (อาจ) ไปได้ไม่ไกลใน ยูโร 2024 อีกตามเคย - OPINION
• แต่อันที่จริง ก็อาจเป็นผลที่เลวร้ายกว่าที่คิด
• เดนมาร์ก แสดงออกถึงความ "ไม่เนี้ยบ" ในทุกส่วน แบบไหนอย่างไร และจะส่งผลอะไรกับก้าวเดินใน ยูโร 2024 เชิญรับชม...
กับเทพนิยายแห่ง ยูโร 1992 ที่ เดนมาร์ก สร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์มาครองได้อย่างตกตะลึงกันทั้งโลก แง่หนึ่ง คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่พวกเขาจะทำมันซ้ำอีกไม่ได้ เมื่อการคว้าแชมป์ยุโรปก็ไม่ใช่เรื่องง่ายของใครทั้งนั้น และแม้จะไปถึงตัดเชือกในครั้งก่อน ยูโร 2020 แต่ก็โดนขวางกั้นเอาไว้ด้วยอะไรบางอย่าง
มาถึง ยูโร 2024 แน่ล่ะว่า เดนมาร์ก คงไม่กล้าตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะไปถึงแชมป์ แต่ด้วยศักยภาพของนักเตะ ด้วยชื่อชั้นของขุมกำลัง การ "แอบหวัง" ในฐานะตัวเต็งลำดับ 8-9 ของรายการ ก็คงไม่ถือว่าผิดบาปแต่ประการใด
อย่างไรก็ตาม ผลเสมอ สโลวีเนีย 1-1 เกมเปิดกลุ่มซี เมื่อวันอาทิตย์ 16 มิ.ย. เดนมาร์ก แสดงออกชัดถึงความ "ไม่เนี้ยบ" ในหลายๆ ส่วน
ที่บางที นี่แหละ จุดสลบของพวกเขา...ที่อาจเป็นการส่งสัญญาณถึงตอนจบ--ที่ดูไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่
รุกไม่เนี้ยบ
โดยรวม การประสานงานระหว่างคู่หน้า ราสมุส ฮอยลุยด์ - โยนาส วินด์ พร้อมกับมี คริสเตียน เอริคเซ่น เป็นกลางรุกตัวสอดเข้าทำแถวสอง เป็นหมากการเล่นที่ "ใช้ได้" และคุณภาพฝีเท้าของแต่ละคนก็อยู่ในเกณฑ์ดี
เช่นกัน ภาพรวมของเกมนี้ เดนมาร์ก ไม่ถึงกับทำได้แย่ และก็ต้องบอกเช่นกันว่า สโลวีเนีย มีโชคพอสมควรให้ได้ประตูตีเสมอ กับลูกยิงของ เอริค ยานซ่า (น.77) ที่แฉลบบั้นท้าย มอร์เทน ฮูลมันด์ เปลี่ยนทางเข้าประตูไปแบบที่ แคสเปอร์ ชไมเคิ่ล ได้แต่เหลียวมองไปสุดฟ้าไกล
แต่ก็แน่นอนว่า ก่อนจะเกิดประตู 1-1 เดนมาร์ก คู่ควรกับการฉีกหนีเป็น 2-0 อยู่ไม่ต่ำกว่า 2-3 หน
เช่นตอนท้ายครึ่งแรก โยนาส วินด์ ตบเข้ากลางให้ คริสเตียน เอริคเซ่น ตวัดยิงเร็วด้วยซ้าย หลุดกรอบไปไกล ทั้งที่ด้วยพื้นที่และความโล่ง ถ้าจะล็อกเข้าขวาอัดเข้าเสาไกลเน้นๆ ก็น่าทำได้
สำคัญสุดคือจังหวะเข้าชาร์จจ่อเสียยิ่งกว่าจ่อของ ราสมุส ฮอยลุนด์ ช่วงนาที 65 ที่แม้ส่วนหนึ่ง--และส่วนใหญ่ๆ เลยคือต้องชมเชย ยาน โอบลัค ซึ่งป้องกันจังหวะนี้ได้อย่าง "เข้าตำรา" กางไม้กางมือให้ใหญ่ ทำให้ตัวใหญ่เข้าไว้เพื่อบล็อกลูกยิง แต่อย่างไรเสีย ถ้า ฮอยลุนด์ จะจบมันด้วยชั้นเชิงที่มากกว่านี้หน่อย เช่นว่างัดให้สูงขึ้นนิด หรือยิงเบี่ยงออกขวาอีกหน่อย ไม่ใช่เข้าชาร์จดื้อๆ ทื่อๆ อย่างที่เป็น ก็น่าเชื่อว่า 2-0 จะมา
ถ้า 2-0 มา ก็น่าเชื่อเช่นกันว่า สโลวีเนีย จะกลับมาไม่ได้
และ เดนมาร์ก จะออกสตาร์ทเกมแรกด้วย 3 คะแนนเต็มตามเป้า
รับไม่เนี้ยบ
อันเดรียส คริสเตนเซ่น ได้รับคำชมเยอะกับเกมนี้จากการจ่ายบอลเข้าเป้า 100% ในจังหวะจ่าย 89 ครั้ง (เป็นสถิตินับแต่ 1980) แต่โดยธรรมชาติไม่ใช่เซนเตอร์แบ็กแท้ๆ โดยเฉพาะตัวกลาง ในระบบ 3 เซนเตอร์
โยอาคิม อันเดอร์เซ่น สูงใหญ่ แข็งแกร่ง ประสบการณ์สูงใน พรีเมียร์ลีก แต่บทจะโฉ่งฉ่าง พลาดง่าย ก็พลาดเลย
ยานนิค เวสเตอร์การ์ด สูงระดับน้องเปรต แต่ความเร็วเป็นปัญหา มีจังหวะโดนกองหน้าสโลวีเนียวิ่งแซงไปยิงดื้อๆ
ก็ขนาดตั้งใจลงไปแพ็คเกมรับแน่นด้วย 3 เซนเตอร์แบ็ก บวกสองวิงแบ็ก (วิกเตอร์ คริสเตียนเซ่น, อเล็กซานเดอร์ บาห์) แถมด้วย 2 มิดฟิลด์ตัวรับ (มอร์เทน ฮูลมันด์, ปิแอร์-เอมิล ฮอยเบิร์ก) ช่วยงาน ปรากฏว่า สโลวีเนีย ก็ยังสร้างโอกาสจบได้ถึง 11 หน (ตรงกรอบ 2 ชนเสา 1)
เช่นกัน เราอาจต้องย้ำอีกทีว่าลูกยิง 1-1 ของ เอริค ยานซ่า มีโชคช่วยให้แฉลบเปลี่ยนทางเข้าประตู แต่เวลาเดียวกัน ก็ต้องห้ามลืมเด็ดขาดว่า สโลวีเนีย "โชคไม่ช่วย" ไปกี่ครั้งกับจังหวะจบที่สร้างสรรค์ได้
โดยเฉพาะลูกยิงอันเป็นที่มาของเตะมุมและประตูตีเสมอ ที่ เบนจามิน เชสโก้ กระหน่ำเปรี้ยงไปจากหน้าเขตโทษ ส่งลูกพุ่งกระแทกเสาเต็มใบเสียงดังสนั่นหวั่นไหว (ก่อน วิกเตอร์ คริสเตียนเซ่น เคลียร์ออกหลัง)
แล้วก็ยังมีโอกาสอื่นๆ อีกที่แสดงให้เห็นว่าหลังบ้านโคนม อันเดอร์เซ่น - คริสเตนเซ่น - เวสเตอร์การ์ด ไม่เนี้ยบมากพอ...โดยรวมอาจจะ "พอใช้ได้" แต่ยังไม่สมบูรณ์แบบ ยังไม่ปึ้กเท่าที่ควร บนพื้นมีช่องเจาะได้ กลางอากาศโดนบอมบ์ใส่เยอะๆ ก็มียุบให้เห็น
ในบางวาบ ก็น่าเสียดายที่ ซิมอน เคียร์ เซนเตอร์แบ็กเชิงสูง เข้าข่ายหมดอายุการใช้งานแล้วในวัย 35 โดยแม้จะติดธงมาด้วยแต่ก็ไม่มีตำแหน่งตัวจริง (โดยนัยอาจว่ามาเพื่อ "สอนน้อง" ระหว่างซ้อมเสียมากกว่า)
ช่วงรอบคัดเลือก ฟุตบอลโลก 2022 เดนมาร์ก ภายใต้การทำทีมของ ฮูลมันด์ มีตอนที่ทำให้แฟนบอลสามารถวางใจได้ว่าเกมรับ "หายห่วง" หลังเหนียว รับแน่น นายประตูก็ยอดเยี่ยมมากพอจะแก้ไขข้อผิดพลาดทั้งหมดของแนวรับได้ ตอนนั้น พวกเขาลงเล่น 10 นัด เสียแค่ 3 ประตู และทำคลีนชีตได้ถึง 8 นัด
ทว่ามาถึงชุดปัจจุบัน เริ่มจะกลายเป็น "เรื่องปกติ" แล้วที่แต่ละเกมจะเสียสัก 1 ประตู ซึ่งทิศทางของผลสกอร์ก็เป็นแบบนั้น - เดนมาร์ก โดนเจาะนัดละลูกมาตลอด 3 เกมหลัง (2-1 สวีเดน, 3-1 นอร์เวย์, 1-1 สโลวีเนีย) และตลอด 9 นัดหลังสุด ก็ทำคลีนชีตสำเร็จแค่ 2 เกมเท่านั้นเอง
เหล่านี้จะเป็นอะไรอื่นไปได้อีก นอกจากความ "ไม่เนี้ยบ" ของแนวรับโคนม
โค้ชก็ไม่เนี้ยบ
ร้ายที่สุดคือ แคสเปอร์ ฮูลมันด์ ผู้สั่งการทีมโคนมจากข้างสนาม
ผู้เขียนคงไม่กล้าบอกว่าตัวเองเก่งกาจกว่า ฝีมือดีกว่า แต่ถ้าสมมุติได้เป็นกุนซือเดนมาร์ก สิ่งที่จะทำในเกมนี้คือ
1) เปลี่ยนตัวให้เร็วขึ้น
- มอร์เท่น ฮูลมันด์ ช่วยอุดเกมรับไม่ได้ดีนัก และยังโดนใบเหลืองต้นครึ่งหลัง ฉะนั้นควรถอดออกคนแรก สักประมาณ น.60 ใส่กลางรับที่สดกว่าลงไปแทน เช่น โธมัส เดอลานีย์ หรือ คริสเตียน นอร์การ์ด
- สองวิงแบ็ก คริสเตียนเซ่น / บาห์ วิ่งขึ้นวิ่งลงตั้งแต่นาทีแรก ก็ควรปรับเหมือนกัน เมื่อตัวเลือกสำรองดีๆ มีทั้ง โยอาคิม เมห์เล่ (อดีตตัวจริง) หรือ ราสมุส คริสเตนเซ่น
- สองกองหน้า ราสมุส ฮอยลุยด์ / โยนาส วินด์ เจอเกมปะทะ เจอชน เจอกระแทกจากกองหลังคู่แข่งมาตั้งแต่ต้น ผ่านหนึ่งชั่วโมงแล้วควรสลับส่ง ยุสซูฟ โพลเซ่น, แคสเปอร์ โดลเบิร์ก หรือ อันเดรียส สคอฟ โอลเซ่น ก็ได้หมด
- แม้แต่ตัวที่ทำประโยชน์สูงสุดอย่าง คริสเตียน เอริคเซ่น ก็โปรดอย่าลืมว่าอายุอานามปาไป 32 แล้ว และตลอดซีซั่นก็นับครั้งได้ที่เล่น 90 นาทีเต็มกับ แมนฯ ยูไนเต็ด ดังนั้นควรออกตั้งแต่ น. 70-75 ให้ มัทเธียส เยนเซ่น หรือ มิคเคล ดัมส์การ์ด ใครก็ได้ ลงแทน
2) ถมเกมรับให้แน่นขึ้น
เมื่อเล่นไปเล่นมา เดนมาร์ก เจอพายุเกมบุก พายุเกมโยนบอมบ์ใส่ของ สโลวีเนีย รวมถึงว่า เบนจามิน เชสโก้ ก็รับมือยากเหลือเกิน มันก็ง่ายๆ ว่าควรจะส่งใครลงไปอุดเกมรับ เพิ่มตัวเลือกหลังบ้านให้มากขึ้น
เป็นต้นว่า เปลี่ยน ฮูลมันด์ ที่ติดใบเหลือง ออก ส่งกลางรับใหม่ลงไปแทน หรือไม่ ก็ยอมถอดกองหน้าทิ้งไปซะ 1 ระหว่าง ฮอยลุนด์ กับ โยนาส วินด์ เพื่อให้มิดฟิลด์เกมรับเช่น เดอลานีย์ หรือ นอร์การ์ด ลงไปช่วยงานหลังบ้านเพิ่ม
ถ้าเลือกอย่างหลัง ระบบจะกลายเป็น 5-3-1-1 แพ็คหลังบ้านและตั้งกำแพงมิดฟิลด์อีกชั้น โซนบนทิ้ง เอริคเซ่น ไว้ประสานงานกับ ฮอยลุนด์ (หรือไม่ก็สำรองคนอื่นๆ) แทน
3) กล้าๆ หน่อยที่จะปรับเปลี่ยน
ก็นั่นล่ะฮะท่านผู้ชม คนเป็นกุนซือ มันควรกล้าๆ หน่อยที่จะเปลี่ยนสำรอง ปรับแผนระหว่างเกม ไว้ใจบรรดาขุมกำลังสำรองที่มี มากกว่าจะยึดมั่นในแผนการเดิม หรือ 11 คนแรกชุดเดิมไปแบบไม่ยอมปรับยอมเปลี่ยนอะไร ทั้งๆ ที่เมื่อเวลางวดเข้า ก็ยิ่งหวาดเสียวว่าจะโดนเจาะมากขึ้นทุกขณะ
ถึงเวลาที่ต้องตั้งรับสุดชีวิต เน้นตรึงสกอร์ ก็ควรต้องทำทุกวิถีทาง
เพราะผลการแข่งขัน สำคัญกว่าทรงฟุตบอลสวยๆ เสมอ
...ทั้งหมดทั้งมวล คือสิ่งที่ไม่ได้เห็นจากโค้ชวัย 52 อดีตนายใหญ่ ลิงบี้, ไมนซ์ และ นอร์ดสเยลลันด์ จากเกมนี้
ที่เกิดขึ้นจริง คือการทยอยเปลี่ยนตัวเอาในสิบกว่านาทีท้าย หรือหลังจากที่โดนเจาะ 1-1 ไปแล้ว (เมห์เล่ แทน คริสเตียนเซ่น แล้วตามด้วยอีกเซ็ตตอนนาที 83 / มอร์เทน ฮูลมันด์ กว่าจะออกก็นาที 89) และบรรดาตัวสำรองก็ไม่มีเวลาในสนามมากพอที่จะแก้ไขสกอร์ได้
หนึ่งแต้ม...สู่หายนะ???
ในภาพแคบ 1 แต้มจาก สโลวีเนีย ไม่ถือว่าเสียหาย
แต่ในภาพกว้าง, แม้อาจดูเป็นการมองในแง่ร้ายเกินไปหน่อย, บอกเลยว่านี่คือการทำ 2 แต้มหลุดมืออย่างน่าผิดหวัง และอาจร้ายแรงกว่าที่คิด
เพราะเกม 2 ที่จะเจอกับ อังกฤษ (พฤหัสบดี 20 มิ.ย.) ตามรูปตามทรงแล้ว ควรยอมรับว่า โอกาสแพ้มีมากกว่าอย่างอื่น
แม้ว่าการเจอกันล่าสุด (ที่ยังเจ็บใจไม่หาย) ในรอบตัดเชือก ยูโร 2020 จะลากกันถึงต่อเวลาพิเศษ และ อังกฤษ ชนะจากการพุ่งล้มเรียกจุดโทษของ ราฮีม สเตอร์ลิ่ง แต่มาถึงชั่วโมงนี้ เห็นได้ชัดว่า อังกฤษ แข็งขึ้น น่ากลัวขึ้น มีทีเด็ดทีขาดมากขึ้น และ "เป็นงาน" มากขึ้น
ถ้าบทสรุปคือการแพ้ เดนมาร์ก จะตกที่นั่งลำบากทันทีในเกม 3 ที่จะเจอกับ เซอร์เบีย (อังคารหน้า 25 มิ.ย.)
หนึ่งคือสถานการณ์บีบบังคับให้ต้องมีแต้ม หรือแม้กระทั่งบังคับชนะ
สองคือจะลงสนามไปด้วยความกดดัน ถ้ายิงไม่ได้โดยเร็ว ก็อาจออกทรง "ยิ่งเล่นยิ่งลน"
และสาม ดีไม่ดี จะเสียท่าเอาด้วยจาก "บอลโยน" ของ เซอร์เบีย โดยเฉพาะเจ้าเวหาอย่าง อเล็กซานดาร์ มิโตรวิช (33% ของประตูที่ เซอร์เบีย ทำได้ในรอบคัดเลือก มาจากลูกโหม่ง ซึ่งถือว่าสูงที่สุดแล้ว)
เกมแรกเสมอ เกมสองแพ้ เกมสามตีไปก่อนว่าออกเสมออีก
สามนัด ไม่ชนะใคร และมี 2 แต้มในมือ
ถ้าออกรูปนี้ ลุ้นกันใจหายใจคว่ำแน่ว่า เดนมาร์ก จะดีพอเป็นหนึ่งใน 4 ทีมอันดับ 3 ที่ดีที่สุด เพื่อเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้าย ได้หรือไม่
แล้วดีไม่ดี ไอ้ที่มีแค่ 2 แต้มนั่น จะทำให้เข้าป้ายเป็น "บ๊วยกลุ่ม" ตกรอบตายสนิท เอาได้เหมือนกัน
...ก็เพราะด้วยความ "ไม่เนี้ยบ" ที่แสดงออกมาตั้งแต่แมตช์แรก
มีสิทธิ์แปรผกผันกันโดยตรงว่า เดนมาร์ก อาจไปได้ "ไม่ถึงไหน" ปวดหัวใจกองเชียร์ อีกเหมือนเช่นเคย