บทบาทของ แฮร์รี เคน ที่อาจชี้ชะตา ทีมชาติอังกฤษ ในศึก ยูโร 2024 - OPINION
- แฮร์รี่ เคน โชว์ฟอร์มไม่ออกในเกมเจอกับ เซอร์เบีย ในเกมนัดแรกของ ยูโร 2024
- เซาธ์เกต ปรับให้ เคน ไปเล่นยืนค้ำในแดนหน้า ซึ่งไม่เหมาะกับแนวทางการเล่นของดาวเตะรายนี้
- ปัญหาที่น่าหนักใจคือ ทีมชาติ อังกฤษ มีผู้เล่นเก่ง ๆ ในตำแหน่งซ้ำกันมากเกินไป
แฮร์รี่ เคน ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอับดับต้น ๆ หลังเกมทีมชาติ อังกฤษ เอาชนะ เซอร์เบีย ไปได้แบบหืดจับ 1-0 ซึ่งแม้จะเป็นสามแต้มสำคัญในนัดเปิดสนาม แต่ศูนย์หน้าจอมถล่มประตูอย่าง เคน กลับมีส่วนร่วมในเกมน้อยมาก ๆ โดยตลอดทั้งช่วงครึ่งเวลาแรกที่ อังกฤษ โหมเกมบุกกระหน่ำใส่คู่แข่ง แฮร์รี่ เคน ในบทบาทกองหน้าตัวเป้ากลับสัมผัสบอลไปทั้งสิ้นเพียง 2 ครั้งเท่านั้น จึงเป็นประเด็นให้ผู้คนตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับศูนย์หน้ารายนี้กันแน่
ล่าสุด เจมี่ คาร์ราเกอร์ ได้ออกมาเขียนอธิบายใน ดิ เทเลกราฟ ว่าเหตุใด แฮร์รี่ เคน จึงเปลี่ยนจากกองหน้าเขี้ยวลากดินมาเป็นดาวเตะไร้พิษสงในช่วงเวลาเพียงไม่นาน รวมถึงหากทีมชาติ อังกฤษ อยากประสบความสำเร็จ บทบาทของ เคน ควรจะออกมาในรูปแบบใด วันนี้ 90MIN จึงสรุปบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจของ คาร์ราเกอร์ มาให้ทุกคนได้อ่านกันครับ
เซาธ์เกต ใช้งานคนผิดประเภท
แน่นอนว่า แกเร็ธ เซาธ์เกต คงคิดมาเป็นอย่างดี ถึงสารพัดวิธีที่จะทำให้ทีมชาติ อังกฤษ ไปถึงฝั่งฝันได้ หนึ่งในนั้นคือการปรับ แฮร์รี่ เคน ให้กลายเป็นกองหน้าตัวจบสกอร์แบบเดียวกับ เออร์ลิ่ง ฮาแลนด์ ซึ่งหากมองดูแบบผิวเผิน ความคิดดังกล่าวก็ดูจะประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก ด้วยการจับกองหน้าที่มีความสามารถในการจบสกอร์ได้เฉียบขาดเป็นทุนเดิมยืนค้ำกองหลังคู่ต่อสู้ไว้ ส่วนหน้าที่การสร้างสรรค์เกมรุกก็ให้เป็นความรับผิดชอบของเหล่าบรรดากองกลางแทน โดยที่ศูนย์หน้ามีหน้าที่รอจังหวะจบสกอร์เพียงอย่างเดียว
ปัญหาคือแผนการเล่นแบบนี้ทำให้ศักยภาพของดาวเตะอย่าง แฮร์รี่ เคน ลดลงไปกว่าครึ่งเลยก็ว่าได้ เพราะความพิเศษของ เคน คือเขาเป็นกองหน้าสารพัดประโยชน์ เล่นได้หลากหลายรูปแบบ ดังนั้นการจับเขาปักหมุดในตำแหน่งหมายเลข 9 เพียงอย่างเดียวอาจสร้างผลเสียมากกว่าผลดีเลยด้วยซ้ำ ซึ่งถ้าหาก แกเร็ธ เซาธ์เกต ยังดื้อดึงใช้งานเขาแบบนี้ต่อไป อาจส่งผลต่อฟอร์มการเล่นของทีมโดยรวมจนถึงขั้นกระเด็นตกรอบเอาได้ สังเกตง่าย ๆ จากการที่ เคน ได้สัมผัสบอลเพียง 2 ครั้งในครึ่งเวลาแรกในการลงเล่นในรูปแบบดังกล่าว
กลายเป็นว่าพอทีมบุกน้อย ยิ่งเล่นดีขึ้น ?
เมื่อกรรมการเป่านกหวีดหมดเวลา โอกาสสัมผัสบอลของ แฮร์รี่ เคน เพิ่มขึ้นมาเป็น 24 ครั้งตลอดทั้งเกม นั่นหมายความว่าในช่วงครึ่งหลัง ศูนย์หน้ารายนี้ได้สัมผัสบอลมากกว่าครึ่งแรกเกินสิบเท่า ขัดกับหลักการในการเล่นฟุตบอลสิ้นดีเพราะในขณะที่ทีมได้ครองบอลน้อยลง เคน กลับได้สัมผัสบอลมากขึ้น กลายเป็นว่าในช่วงที่ทีมกำลังเล่นดี เคน กลับโชว์ฟอร์มไม่ออก แต่พอทีมเล่นแย่ลง เคน กลับเล่นดีขึ้น มีส่วนร่วมมากขึ้น รวมถึงเกือบทำประตูได้อีกด้วย
คาร์ราเกอร์ จำแนกศูนย์หน้าระดับเทพออกเป็นสองประเภท หนึ่งคือนักเตะที่ดี สองคือตัวจบสกอร์ที่ดี ซึ่งในขณะที่ ฮาแลนด์ คือตัวจบสกอร์ที่ดีมาก แฮร์รี่ เคน คือผู้เล่นที่ดีที่ยิงประตูได้เยอะมาก และเหตุผลที่ เคน กลายเป็นนักเตะระดับโลกได้คือดาวเตะรายนี้สามารถยกระดับทีมได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องยิงประตูเลยสักลูกเดียว ดังนั้นการปรับให้เขากลายเป็นตัวจบสกอร์เพราะเกรงใจพื้นที่ของนักเตะคนอื่น อาจเป็นสิ่งที่ เซาธ์เกต ต้องชั่งน้ำหนักหน่อยว่าสิ่งใดมีความสำคัญมากกว่ากัน
จะดึงประสิทธิภาพสูงสุดของ แฮร์รี่ เคน ออกมาอย่างไร ?
แฮร์รี่ เคน จะท็อปฟอร์มมากที่สุดก็ต่อเมื่อเขาถูกรายล้อมไปด้วยเพื่อนร่วมทีมที่มีความเร็ว ยกตัวอย่างเช่นในสามทัวร์นาเม้นต์หลักก่อนหน้านี้ เคน มักจะดร็อปตัวเองลงมาต่ำเพื่อทำการรับบอลแล้วจ่ายให้ผู้เล่นที่มีความเร็วสูงอย่าง บูกาโย่ ซาก้า, ราฮีม สเตอริ่ง, และ มาร์คัส แรชฟอร์ด
แต่ในเกมช่วง 30 นาทีแรกกับ เซอร์เบีย ซาก้า เป็นเพียงคนเดียวที่สามารถใช้ความเร็วทะลุทะลวงเข้าไปในกรอบเขตโทษฝั่งตรงข้ามได้ และมันเป็นการโยนภาระอันหนักอึ้งให้กับผู้เล่นเพียงคนเดียวมากเกินไป ส่วน แฮร์รี่ เคน ก็ถูกทิ้งให้โดดเดี่ยวจนไม่มีโอกาสได้สัมผัสบอลนัก ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการขาดผู้เล่นที่มีความเร็วไปยิ่งส่งผลให้ทีม อังกฤษ เล่นแย่ลงเรื่อย ๆ ซึ่งน่าแปลกใจที่ผู้เล่นอย่าง แอนโธนี กอร์ดอน ไม่ถูกส่งลงสนามมาเมื่อปัญหามีให้เห็นอยู่ทนโท่ หรือแม้กระทั่ง โอลลี่ วัตกิ้นส์ ที่น่าจะมีความสดและความเร็วกว่า เคน ก็ไม่ถูกเปลี่ยนตัวลงมาในช่วงท้ายเกมเช่นกัน
ทางเลือกอันน่าหนักใจของ แกเร็ธ เซาธ์เกต
ปัญหาในเกมดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่ แกเรธ เซาธ์เกต ไม่อยากมีอาการ "รักพี่เสียดายน้อง" ซึ่งแน่นอนว่าในฟุตบอลระดับทัวร์นาเม้นต์ มันจะมีความยากลำบากในการที่กุนซืออยากส่งนักเตะเก่ง ๆ ทุกคนลงไปในสนามให้ได้มากที่สุด อย่างเช่นผู้เล่นอย่าง จู๊ด เบลลิ่งแฮม และ ฟิล โฟเด้น ที่มีสไตล์การเล่นเป็นหมายเลข 10 เหมือนกัน ดังนั้นในเกมกับ เซอร์เบีย จึงกลายเป็นทุกคนพยายามแย่งชิงพื้นที่เขาไปเล่นตรงกลาง รวมถึง เทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ ที่พยายามเข้าไปร่วมแจมอีกคน แฮร์รี่ เคน จึงต้องขยับขึ้นไปสูงกว่าปกติเป็นภาคบังคับเพื่อเปิดทางให้ผู้เล่นทั้งสามเล่นในพื้นที่หน้ากรอบเขตโทษ ผลเสียคือ เคน ไม่มีส่วนร่วมในเกมบุกเลย
ปัญหาของ อังกฤษ ในตอนนี้คล้าย ๆ กับทีมชาติ สเปน ของ บีเซนเต้ เดล บอสเก้ ในฟุตบอล ยูโร 2012 ซึ่งในตอนนั้นทีม กระทิงดุ เต็มไปด้วยผู้เล่นมากคุณภาพในตำแหน่งที่ซ้ำกันไม่ว่าจะเป็น ชาบี, เซร์คิโอ บุสเก็ตส์, อันเดรส อิเนียสตา, ชาบี อลอนโซ๋, ดาบิด ซิลบา, และ เชสก์ ฟาเบรกาส ซึ่งจบลงด้วยการที่ เดล บอสเก้ ส่งผู้เล่นทั้งหมดลงสนามพร้อมกัน โดยที่ทัพ สเปน ในตอนนั้นยอมเล่นโดยปราศจากกองหน้าตัวเป้า แต่ด้วยความสุดยอดของนักเตะแต่ละคน สเปน จึงเล่นอย่างเข้าขากันได้ในเวลานั้น
แม้ แกเร็ธ เซาธ์เกต จะพยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีการเดียวกัน แต่คุณภาพและประสบการณ์ของตัวผู้เล่นทีมชาติ อังกฤษ ชุดนี้ก็อาจจะยังไม่ได้แกร่งกล้าเท่าทีมชาติ สเปน ในปี 2012 ดังนั้น เซาธ์เกต อาจต้องกลับมาถามตัวเองหน่อยว่าสิ่งไหนจะเป็นประโยชน์ให้กับทีมมากที่สุดระหว่าง การให้ แฮร์รี่ เคน ได้ลงเล่นในตำแหน่งที่่เขาถนัดมากที่สุด หรือ การพยายามส่งผู้เล่นเก่ง ๆ ทุกคนลงไปในสนาม แต่จะแลกมาด้วยการลดประสิทธิภาพของ แฮร์รี่ เคน ลงครึ่งนึง