บันได 5 ขั้นแก้ปัญหา VAR พรีเมียร์ลีก : ทรรศนะจากอดีตผู้ตัดสินแถวหน้า มาร์ค ฮัลซี่ย์ - OPINION

• ระบบช่วยตัดสิน VAR กำลังเป็นประเด็นร้อนของ พรีเมียร์ลีก
• โดยเฉพาะเกมที่ สเปอร์ส ชนะ ลิเวอร์พูล 2-1 ซึ่งองค์กรผู้ตัดสินฟุตบอลอาชีพของอังกฤษ หรือ PGMOL ยอมรับตามตรงว่ามีข้อผิดพลาด
• มาร์ค ฮัลซี่ย์ อดีตผู้ตัดสิน ช่วงปี 1999-2013 ให้ความเห็นว่ามีอย่างน้อย 5 ข้อที่ VAR พรีเมียร์ลีก ต้องปรับปรุง
Tottenham Hotspur v Liverpool FC - Premier League
Tottenham Hotspur v Liverpool FC - Premier League / Ryan Pierse/GettyImages
facebooktwitterreddit

กับหลายจังหวะที่เกิดขึ้นในเกมเดือด สเปอร์ส 2-1 ลิเวอร์พูล เมื่อ 30 ก.ย. กับอีกบางจังหวะที่เกิดขึ้นในเกมอื่นๆ ของวันเดียวกันนั้น ล้วนแต่ทำให้ระบบช่วยตัดสิน VAR (Video Assistant Referee) แห่ง พรีเมียร์ลีก กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้ง ว่าเอาเข้าจริง ระบบนี้มันช่วยสร้าง "ประโยชน์" หรือ "โทษ" กันแน่

มาร์ค ฮัลซี่ย์ อดีตผู้ตัดสิน พรีเมียร์ลีก (และฟีฟ่า) ช่วงปี 1999-2013 เสนอความเห็นผ่านนสพ. เดอะ ซัน เอาไว้ว่า เทคโนโลยี ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างประโยชน์อยู่แล้ว--หากใช้อย่างถูกวิธี ดังนั้น จึงมีอย่างน้อย 5 ข้อที่ VAR ของลีกเมืองผู้ดี ต้องปรับปรุงอย่างเร่งด่วน เพื่อให้สิ้นสุดทุกข้อครหา

Mark Halsey
Reading v Chelsea - Premier League / Scott Heavey/GettyImages

"หัวหน้าองค์กรผู้ตัดสิน PGMOL อย่าง ฮาวเวิร์ด เว็บบ์ กำลังมีงานหนักยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา เพื่อเรียกกลับมาซึ่งความมั่นใจของนักเตะ, ผู้จัดการทีม และแฟนบอล ให้หลังจากความผิดพลาดครั้งใหญ่ของ VAR ที่เกิดขึ้น"

"มันเกิดความไม่แน่นอนขึ้นทั้งในจังหวะแฮนด์บอล, เข้าปะทะ, จุดโทษ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จังหวะล้ำหน้า เมื่อเทคโนโลยี VAR ถูกนำเข้ามาใช้ อย่างที่เราเพิ่งเห็นกันไปในประตูของ หลุยส์ ดิอาซ ที่ถูกริบไปจากเกมระหว่าง ลิเวอร์พูล กับ สเปอร์ส"

"ที่จริงแล้ว VAR ไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือกลุ่มคนที่มีหน้าที่ใช้เทคโนโลยีนี้ พวกเขาเหล่านี้เองที่นำมาซึ่งการสูญเสียความมั่นใจในระบบ ที่มันควรเชื่อถือได้"

"ไม่มีใครต้องการคำแถลงจาก PGMOL หรือคำขอโทษอะไรใดๆ หรอก สิ่งที่ เว็บบ์ ต้องทำก็คือแก้ปัญหาให้กับ VAR และมาตรฐานของการตัดสิน ซึ่งเขาต้องทำมันอย่างเร่งด่วน เมื่อเทคโนโลยีเป็นเครื่องไม้เครื่องมือที่ดีอยู่แล้ว ถ้าคุณใช้มันอย่างถูกต้อง"

"พรีเมียร์ลีก มีทั้งนักเตะที่ดีที่สุดในโลก กุนซือที่ดีที่สุดในโลก และแฟนบอลก็ต้องจ่ายหนักเพื่อให้ได้เข้าถึง แต่คุณลองมองไปที่ผู้ตัดสิน ทีม VAR อย่าง ดาร์เรน อิงแลนด์ หรือ แดน คุก คุณจะเห็นความแตกต่างอย่างมหาศาล พวกเขาเหล่านี้คุณภาพไม่ถึงระดับที่ พรีเมียร์ลีก ต้องการอย่างสิ้นเชิง"

"ใช่ ทุกคนสามารถผิดพลาดกันได้ แต่ VAR มันผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่ในทุกสัปดาห์ และนี่คือแผนการ 5 ข้อจากความเห็นของผม ในการหลีกเลี่ยงเรื่องตลกร้ายอย่างที่มันเคยเกิดขึ้นมาตลอด"

1. ปรับการสื่อสาร

แน่นอนว่ามันควรมีเพียง 1.ผู้ตัดสินกลางสนาม กับ 2.ผู้ตัดสินในห้อง VAR ที่สามารถสื่อสารพูดคุยกันได้โดยตรง ไม่ควรมากไปกว่านี้

แต่ในระหว่างการตรวจสอบหลายๆ กรณีที่เกิดขึ้น ระบบมันโกลาหลเกินไปมาก เพราะมีการคุยกันเกิดขึ้นมากเกินไป ที่ต้องทำคือการตัดส่วนเกินเหล่านั้นออกไปเสีย

การสนทนาจะต้องเกิดขึ้นอย่างแม่นยำ ตรงประเด็น และชัดเจน เราสามารถดูตัวอย่างได้จากกีฬาคริกเก็ตและรักบี้ เมื่อพวกเขามาถึงช่วงที่มีการรีวิวบางจังหวะในสนาม

ณ ตอนนี้ มันมีการคุยตอบโต้กันไปมามากเกินไป ซึ่งก่อให้เกิดความสับสน

Chelsea FC v Aston Villa - Premier League
Chelsea FC v Aston Villa - Premier League / MB Media/GettyImages

2. คุยกันหน้าไมค์

แฟนบอลเองก็ควรได้ยินและรับทราบการสนทนาระหว่างผู้ตัดสินในสนาม กับทีม VAR ได้แล้ว เราอยู่ในปี 2023 แล้วนะ ไม่ใช่ 1973 ผมรู้ว่าคณะกรรมการสมาคมฟุตบอลนานาชาติ หรือ IFAB พยายามป้องกันสิ่งนี้ ในขณะที่ ฮาวเวิร์ด เว็บบ์ ต้องการให้เกิดขึ้น

สิ่งที่มันควรเกิดขึ้นจริง ก็คือทำให้เรื่องนี้มีผลบังคับใช้ เพราะ เว็บบ์ และบรรดาผู้ตัดสิน จะสามารถกอบกู้ศรัทธาและความมั่นใจจากทุกคนกลับมาได้

ข้อสงสัยที่มีต่อคำตัดสิน VAR เกิดขึ้นหลายจังหวะในหลายสัปดาห์หลัง และทางเดียวที่จะทำให้มันโปร่งใส ก็คือทำให้ทุกคนได้รับทราบถึงบทสนทนาที่มี

มันจะทำให้เป็นการคลายข้อสงสัยลง และเห็นชัดว่าข้อผิดพลาดมันเกิดจากอะไรแน่

Robert Jones
Arsenal FC v Tottenham Hotspur - Premier League / Marc Atkins/GettyImages

3. เพิ่มการฝึกอบรม VAR

สิ่งที่เป็นอยู่คือ ผู้ตัดสินมีช่วงเข้าอบรมการใช้งาน VAR เป็นระยะ 4 วันก่อนที่ซีซั่นจะเริ่มต้นขึ้น...แต่มันเพียงพอแล้วแน่หรือ?

ในตลาดหลายปีมานี้ บรรดาผู้ตัดสินของเราไม่ได้ถูกฝึกซ้อมมาเพื่อให้มานั่งหน้าจอทีวี มันเป็นงานที่ต่างกันมาก และเอาเข้าจริง พวกเขารู้รึเปล่าว่าตัวเองต้องทำอะไรจริงๆ

เวลาเดียวกัน เรามีนักวิเคราะห์เกมที่นั่งหน้าจอมากี่ปีต่อกี่ปีแล้ว พวกเขามีประสบการณ์ในการดูเกมหลายต่อหลายเกม และหลายต่อหลายชั่วโมง เพื่อที่จะสร้างการวิเคราะห์และลงความเห็นสุดท้ายต่อจังหวะเหล่านั้น

สโมสรในพรีเมียร์ลีกเองก็ไม่ได้ช่วยในเรื่องนี้ ด้วยการโหวตไม่เอาระบบช่วงตัดสินล้ำหน้า semi-automatic offside system แต่มาถึงตอนนี้มันต้องถูกรื้อกลับมาอีกครั้ง และต้องนำมาใช้ทันทีด้วย

Nottingham Forest v Brentford FC - Premier League
Nottingham Forest v Brentford FC - Premier League / Alex Livesey/GettyImages

4. สร้างทีม 'ผู้เชี่ยวชาญด้าน VAR'

เราต้องการทีมที่มีการอุทิศตัวและทุ่มเทเวลาแบบฟูลไทม์ โฟกัสกับการใช้งานเทคโนโลยีภาพช้า VAR เพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องเสียเวลาไปทำงานอย่างอื่น เมื่อเรื่องมาถึงตรงนี้ ที่มันกลายเป็นประเด็นใหญ่มากๆ แล้ว

พวกเขาจะต้องตั้งทีมขึ้นมาทีมหนึ่ง เพื่อเป็นผู้ตัดสินเฉพาะทางของ VAR โดยไม่ต้องลงทำหน้าที่ในสนามอีกต่อไป มันอาจประกอบด้วยอดีตผู้ตัดสินมือดี หรืออดีตนักเตะระดับสูง ที่มีความเข้าใจในกฎในเกณฑ์ของฟุตบอลเป็นอย่างดี

อดีตนักเตะอาชีพเหล่านั้นจะรู้ชัดมากว่าจังหวะไหนคือการเข้าสกัดที่แย่ ที่รุนแรงและผิดกฎ หรือจังหวะไหนคือจังหวะที่ไม่ตั้งใจ เช่นเดียวกัน กับแขนหรือมือที่ยื่นออกจากตัว จังหวะไหนเกิดขึ้นด้วยความตั้งใจป้องกัน หรือมันเป็นเพียงอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการแฮนด์บอล

ไมค์ ดีน คือผู้ตัดสินที่ยอดเยี่ยมเลยตอนที่เขายังทำหน้าที่ แต่เราเห็นกันแล้วว่าเขาไม่เหมาะกับการดูแล VAR และถูกต้องแล้วที่จะปลดเขาออกไป

Sportsinnovation 2022
Sportsinnovation 2022 / Lukas Schulze/GettyImages

5. อย่าเชื่อในภาพนิ่ง

สุดท้ายท้ายสุด ผู้ตัดสินและทั้งองคาพยพของระบบ VAR ต้องปรับทัศนคติเสียใหม่ โดยมีสิ่งสำคัญคือพวกเขาต้องเลิกยึดมั่นถือมั่นใน "ภาพนิ่ง" กันได้แล้ว

ตอนที่ ไซม่อน ฮูเปอร์ เดินออกไปดูจอภาพช้าในเกม สเปอร์ส - ลิเวอร์พูล เมื่อวันเสาร์ VAR เน้นไปที่ภาพนิ่งของจังหวะที่ เคอร์ติส โจนส์ ยกเท้าสูงใส่ อีฟส์ บิสซูม่า

จังหวะเสี้ยววินาทีที่ถูกจับเป็นภาพนิ่งนั้นเองซึ่งส่งอิทธิพลสูงมากต่อการตัดสินใจของผู้ตัดสิน ในการที่จะลงความเห็นต่อจังหวะนั้นๆ

แต่ในความเห็นของผม ภาพช้าและแม้แต่วิดีโอสโลว์โมชั่น มักทำให้ทุกจังหวะเข้าปะทะดูแย่กว่าที่มันเป็นจริงๆ

คุณควรต้องดูภาพรวมของจังหวะที่เกิดขึ้นมากกว่า และตรวจสอบมันด้วยวิดีโอจริง จังหวะที่มันเกิดขึ้นแบบ real time ไม่ใช่เชื่อในภาพนิ่ง ที่บางครั้งก็ลวงตาคุณได้ง่ายๆ

Curtis Jones, Yves Bissouma
Tottenham Hotspur v Liverpool FC - Premier League / Marc Atkins/GettyImages