แผ่นดินไหวจาก แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่อาจสะเทือนถึง แมนยู และ ลิเวอร์พูล - OPINION
โดย ชยพล ธานีวัฒน์
ข่าวใหญ่ของวงการฟุตบอลในเวลานี้คงจะไม่มีเรื่องใดที่น่าติดตามไปกว่าการที่ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ แชมป์ พรีเมียร์ลีก เมื่อฤดูกาลที่แล้วถูกตั้งข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดกฎไฟแนนเชียลแฟร์เพลย์จากการซุ่มสืบสวนหาข้อเท็จจริงเป็นเวลากว่า 4 ปีเต็ม
ก่อนหน้านี้เมื่อ 3 ปีก่อน ซิตี้ เพิ่งรอดจากการโดน ยูฟา ตั้งข้อกล่าวหาเดียวกันนี้เนื่องจากพวกเขาต่อสู้เรื่องที่มาของหลักฐานที่ไม่ถูกกฎหมาย โดยเอกสารที่ใช้ในการกล่าวหานั้นมาจากการแฮกข้อมูลของ รุย ปินโต้ แฮกเกอร์สัญชาติโปรตุกีสซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งเว็บไซต์สะเทือนวงการอย่าง "Football Leaks" อันโด่งดัง
แต่ในครั้งนี้ทาง พรีเมียร์ลีก ได้ทำการรวบรวมพยานหลักฐานและทำการสืบสวนอย่างลับ ๆ ด้วยตัวเองเป็นเวลา 4 ปีเต็มซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกับตอนที่ ยูฟา กล่าวหาทีม เรือใบสีฟ้า และเชื่อว่าพวกเขาคงไม่พลาดที่จะให้มีช่องโหว่เกิดขึ้นเมื่อคราวก่อนอย่างแน่นอน
ตามหลักการของกฎไฟแนนซ์เชียลแฟร์เพลย์คือ สโมสรต่าง ๆ ต้องจัดการเรื่องการเงินอย่างตรงไปตรงมา รายได้และกำไรของสโมสรควรมาจากการดีลสปอนเซอร์, ผลงานในสนาม, การขายตั๋วเข้าชม, การขายของที่ระลึก, การขายผู้เล่นในทีม หรือถ้าคุณมีศักยภาพที่จะไปหาเงินมาจากทางอื่นก็ทำได้แต่ต้องให้โปร่งใสโชว์ในบัญชี
เช่นเดียวกับรายจ่ายซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องค่าบริหารจัดการสโมสรทั้งเรื่องบุคลากร ค่าเหนื่อยโค้ช, ทีมงาน และนักเตะ ค่าจัดการสาธารณูปโภคต่าง ๆ และการซื้อนักเตะใหม่มาร่วมทีม ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ต้องชี้แจงให้ชัดเจน มีที่มาที่ไป
ดังนั้นเรื่องการโดนตั้งข้อกล่าวหาของ แมนฯ ซิตี้ พูดง่าย ๆ ว่า พวกเขามีลับลมคมใน มีการซิกแซกเรื่องการใช้จ่าย พยายามโยกเงินสลับกันไปมาหรือใช้นอร์มินีในการจัดการด้านการเงินซึ่งเกิดขึ้นตลอด 9 ซีซัน นั่นจึงทำให้ พรีเมียร์ลีก ตั้งข้อกล่าวหาได้มากถึง 115 กรณี
ขั้นตอนต่อไปคือการไปต่อสู้กันในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการอิสระที่ทาง พรีเมียร์ลีก ตั้งขึ้น โดยทีมจากเมืองแมนเชสเตอร์ก็ต้องหาหลักฐานมายืนยันให้ได้ว่าข้อกล่าวหาเหล่านั้นไม่เป็นความจริง ซึ่งจากความเคลื่อนไหวล่าสุดพวกเขาได้ทำการจ้างทนายชุดเดิมที่เคยทำให้ทีมหลุดจากข้อกล่าวหาของ ยูฟา มาว่าความให้ นำโดย ลอร์ด เดวิด แพนนิค จากสำนักงานกฎหมายชื่อดัง แบล็ค สโตน แชมเบอร์ส
เรื่องราวจะเป็นอย่างไร เดอะสกายบลูส์ จะโดนลงโทษหนักขนาดไหน หรือพวกเขาจะรอดพ้นจากการถูกกล่าวหาอีกครั้งเหมือนที่เคยเอาชนะ ยูฟา มาแล้วหรือไม่ ต้องรอดูกันต่อไป ซึ่งคาดว่าการพิจารณาจะใช้เวลายาวนานเป็นปี
อย่างไรก็ตามข่าวนี้จะส่งผลต่อสถานการณ์ของ 2 คู่แข่งอย่าง ลิเวอร์พูล และ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อย่างช่วยไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องของการริบแชมป์ที่หลาย ๆ เพจพากันปั่นข่าวว่าพวกเขาอาจจะส้มหล่นได้แชมป์ พรีเมียร์ลีก กันคนละ 3 สมัยหาก ซิตี้ ถูกตัดสินว่าผิดจริงอะไรแบบนั้น
แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือมันอาจจะส่งผลต่อการซื้อ-ขายสโมสรที่ทั้ง 2 ทีมกำลังแข่งกันปั่นราคาในตลาดอยู่ในขณะนี้
มูลค่าปัจจุบันของ ลิเวอร์พูล ซึ่งตามข่าวบอกว่าสูงถึง 4 พันล้านปอนด์ ในขณะที่คู่ปรับอย่าง ยูไนเต็ด อาจทะลุถึง 7 พันล้านปอนด์หากมีการซื้อขายเกิดขึ้น ซึ่งมูลค่าที่มากมายมหาศาลขนาดนี้แฟนบอลคงจะคิดถึงแต่กลุ่มทุนจากตะวันออกกลาง เช่น กาตาร์, ซาอุดิอาระเบีย หรือ UAE เท่านั้นที่น่าจะจ่ายได้แบบไม่มีปัญหา
ในคราวที่ FSG ประกาศขายสโมสร เดอะค็อป ก็หวังว่าจะมีเศรษฐีน้ำมันที่ไหนซักแห่งเข้ามาเทคโอเวอร์สโมสร เช่นเดียวกับเด็กผีที่ตั้งตารอให้ตระกูลเกลเซอร์ปล่อยทีมมานานก็หวังเหมือนกันว่าพวกเขาจะเจอกับเจ้าของใหม่พร้อมก้อนเงินมหาศาลเหมือนอย่าง แมนฯ ซิตี้ และ ปารีส แซงต์-แชร์กแมง หรือแม้กระทั่ง นิวคาสเซิล
หากแต่พอเกิดกรณีของ ซิตี้ ขึ้นมา คำถามจึงตามมาว่าเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าทุนจากตะวันออกกลางเหล่านี้จะไม่สร้างปัญหาให้กับ ลิเวอร์พูล และ แมนฯ ยูไนเต็ด หากพวกเขาเข้ามาเทคโอเวอร์ได้สำเร็จจริง ๆ
ก่อนหน้านี้กลุ่มทุนจากอเมริกาคือ "ผู้ร้าย" และ "พวกขี้งก" ในสายตาของแฟนบอลทั้งสองทีม เนื่องจากแนวทางการบริหารแบบอเมริกันนั้นเน้นผลกำไร-ขาดทุน เน้นให้สโมสรพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุดเพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง และที่สำคัญคือเจ้าของทีมจะได้ฟันกำไรแบบเต็ม ๆ
ซึ่งแนวทางแบบนี้ที่แฟน หงส์แดง ต่างบ่นอุบว่า FSG ขี้เหนียวเกินไป ทำไมต้องซื้อมาขายไปถึงจะได้เสริมทัพ ไม่มีเงินเป็นก้อน ๆ ทุ่มลงไปเหมือนที่ เป๊ป กวาร์ดิโอลา ได้รับเลยหรือ ในขณะที่แฟนบอล ปีศาจแดง แม้ว่าทีมจะมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่ผลงานในสนามก็ไม่ได้เป็นที่ถูกใจ แถมผลกำไรยังถูกตระกูลเกลเซอร์เอาไปใช้หนี้ที่ตัวเองกู้มาจากธนาคารอีกต่างหาก
มองในแง่ของฟุตบอลมันอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าสบอารมณ์เท่าไหร่ กว่าจะซื้อนักเตะได้แต่ละคนต้องรอขายออกก่อน กว่าจะคว้าสตาร์แต่ละคนก็ยากเย็น ต่อรองกันไปมาทั้งเรื่องเงินค่าเหนื่อย เรื่องค่าตัว ซึ่งมีหลายกรณีที่ท้ายที่สุดนักเตะดี ๆ หลุดมือไป และอีกหลายกรณีที่ได้นักเตะราคาโอเวอร์เรตเกินจากความเป็นจริง
แต่ในแง่ของการบริหารจัดการและการสร้างมูลค่าของทั้ง 2 ทีมพวกเขาไม่เป็นสองรองใคร แมนยู ยังเป็นทีมที่มีมูลค่าสูงสุดในท็อปทรีของโลก ส่วน หงส์แดง มูลค่าพุ่งกว่า 100 เท่าหลังจากที่ FSG เทคโอเวอร์มาแค่ 300 ล้านปอนด์เมื่อ 10 กว่าปีก่อน
ซึ่งหากเจ้าของสโมสรถูกเปลี่ยนมือไปเป็นทุนจากอาหรับแน่นอนว่านักเตะดี ๆ จะเดินเข้าสู่สโมสร ไมว่าจะแพงเท่าไหร่ก็ตาม แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าพวกเขาจะไม่ถูกครหาเรื่องการทำผิดกฎการเงินเหมือนกับที่ แมนฯ ซิตี้ กำลังโดนอยู่ในตอนนี้ และจริง ๆ แล้วไม่ใช่แค่ ซิตีั้ เท่านั้นที่กำลังถูกจับตามอง ด้าน เปแอชเช ก็กำลังมีปัญหาเรื่องนี้เช่นกันหลังจากที่พวกเขาต่อสัญญากับ คิลิยัน เอ็มบัปเป้ ไปเมื่อซัมเมอร์ที่แล้ว โดยทาง ฆาเบียร์ เตบาส ประธาน ลาลีก้า ได้ยื่นเรื่องให้ทาง ยูฟา สอบสวนไปแล้วด้วย
เรารู้กันดีว่ากลุ่มทุนจากตะวันออกกลางเหล่านี้ต่างเป็นเครือญาติกันทั้งนั้น รวมทั้งหลาย ๆ กิจการก็เป็นของคนคนเดียวแต่มีการใช้วิธีกระจายการบริหารจัดการเพื่อเหตุผลทางธรุกิจ ซึ่งจริง ๆ แล้วเงินทุนก็มาจากก้อนเดียวกันทั้งนั้น และสิ่งนี้กำลังย้อนกลับมาเล่นงาน แมนฯ ซิตี้ อยู่ในเวลานี้
ไม่ได้จะบอกว่าทุนอเมริกานั้นดีกว่า แต่ในแง่ของการบริหารจัดการเราแทบไม่เคยได้ข่าวว่า ลิเวอร์พูล และ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มีปัญหาเรื่องการละเมิดกฎการเงินเลย แม้ในแง่ของฟุตบอลพวกเขาจะทำให้แฟนบอลไม่ค่อยพอใจก็ตาม
ดังนั้นหลังจากนี้ข่าวของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ จะส่งผลต่อการพิจารณาการซื้อ-ขายสโมสรของทั้ง 2 ทีมอย่างไม่ต้องสงสัย และดีลเหล่านี้จะได้รับการจับตามองเป็นพิเศษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย