สเปน-เยอรมนี 2 ยักษ์ผู้ "น่าเป็นห่วง" กับประเด็นที่น่าสนใจจากโปรแกรมทีมชาติ - OPINION

KYRGYZSTAN-HUNTING-FESTIVAL
KYRGYZSTAN-HUNTING-FESTIVAL / VYACHESLAV OSELEDKO/GettyImages
facebooktwitterreddit

สิ้นสุดลงเป็นที่เรียบร้อยกับคิวคัดเลือก ยูโร 2024 ที่โรมรันกันมาตลอดสัปดาห์กว่าๆ เพียงแต่ประเด็นให้พูดถึงบรรดาทีมชาติน่าสนใจ ก็ยังมีอยู่อีกไม่น้อย โดยเฉพาะจากผลการแข่งขันของเกมเมื่อคืนอังคาร ที่สะท้อนภาพน่าเป็นกังวลออกมาให้เห็น ใน 2 ชาติยักษ์ใหญ่ ทั้ง สเปน แชมป์ยูโร 3 สมัย และเจ้าภาพรายถัดไปอย่าง เยอรมนี


กระทิงดุ...ออกแปร่งๆ

สเปน เริ่มต้นเส้นทางรอบคัดเลือก ยูโร 2024 ได้อย่างสวยหรูเกินคาด กราดยิง นอร์เวย์ ขาดลอย 3-0

ปัญหาก็คือ เกมถัดมา (เมื่อคืน 28 มี.ค.) ก็กลับเละเทะได้อย่างเกินคาดอีกเช่นกัน

แน่นอนว่า สเปน ได้แรงส่งจากการที่ นอร์เวย์ ไม่มีดาวยิงจอมปีศาจ เออร์ลิ่ง เบราท์ ฮาแลนด์ ที่เจ็บจนต้องถอนตัวไปจากคิวเตะทีมชาติงวดนี้ จนสามารถผ่านทีมไวกิ้งได้แบบง่ายดาย จากการปิดสกอร์ของ ดานี่ โอลโม่ น.13 และสองเม็ดของ โฆเซลู น.83 กับ 85

เพียงแต่ในรายละเอียดของเกมแรกนั่น (25 มี.ค.) สเปน ก็ต้องพึ่งพาความเหนียวหนึบของ เคปา อาร์ริซาบาลาก้า ให้ช่วยเซฟประตูเอาไว้ ไม่ให้เกิดสกอร์ 1-1 อยู่หนสองหนเหมือนกัน เช่นเดียวกับที่ นอร์เวย์ ยิงวืดวาดไปเองก็มี ก่อนที่ สเปน จะมาได้ 2 เม็ดเพิ่มในช่วงท้าย

บางที นิยามของเกมนั้นอาจเป็นว่า "ผลสกอร์ ไม่ได้บอกถึงรูปเกม" ก็น่าเข้าข่าย

ถัดมาเกมสอง สิ่งที่ สเปน หวั่นเกรงไว้ก็เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับการเสียประตูในช่วงเวลาสำคัญ ต้นเกม น.7 สกอตต์ แม็คโทมิเนย์ สอดแถวสองมาแปเข้าเสาไกล และต้นครึ่งหลัง แม็คโทมิเนย์ คนเดิม สบช่องยิงวอลเลย์ด้วยซ้ายลอดขากองหลัง (ดาบิด การ์เซีย) เข้าไป

โดนสองเม็ดในช่วงเวลาสำคัญ ทำเอา สเปน ไปไม่เป็นอย่างเห็นได้ชัด จนตลอดเวลาที่เหลือ พวกเขาดูไม่ได้ใกล้เคียงต่อการตีตื้นขึ้นมาสักเท่าไหร่เลย (ยังมี สกอตแลนด์ ยิงชนคานด้วย) และสุดท้ายก็แพ้สบายเกินคาด 0-2

หากว่าพวกเขารักษามาตรฐานจากเกมแรกที่ชนะ 3-0 มาเป็นชนะแบบเฉือนๆ หรืออย่างน้อยแบ่งแต้มจากเกม 2 ที่กลาสโกว์ ก็คงน่าเชื่อว่า สเปน กำลังกลับมาแข็งแกร่งน่าเกรงขามอีกครั้ง

แต่เมื่อผลออกแปลกๆ แปร่งๆ แบบนี้ ก็ชัดเจนว่า การบ้านกองโตยังรอให้ หลุยส์ เด ลา ฟวนเต้ และชาวคณะกระทิงดุ จัดการอยู่

Daniel Carvajal
Scotland v Spain: Group A - UEFA EURO 2024 Qualifying Round / Ian MacNicol/GettyImages

ฝีไม้ลายมือโค้ชใหม่ ยังเป็นคำถาม

ถือเป็นตัวเลือกที่เซอร์ไพรส์แต่แรกอยู่แล้ว กับการตั้งคนในที่ไม่ค่อยจะมีประสบการณ์ระดับสูงอะไรมากมายอย่าง หลุยส์ เด ลา ฟวนเต้ (Luis de la Fuente) ขึ้นดูแลทีมแทน หลุยส์ เอ็นริเก้ ที่ลาออกสังเวยการตกรอบ 16 ทีม ฟุตบอลโลก 2022 ไป

นี่คือ CV ของ เด ลา ฟวนเต้ โค้ชสแปนิชวัย 61 ผู้ซึ่งเป็นกองหลังให้กับ แอธเลติก บิลเบา, เซบีย่า, อลาเบส มาในยุค 80-90

1997–2000 ปอร์ตูกาเลเต้ (ทีมกึ่งอาชีพ)

2000–2001 ออร์เรร่า (ทีมกึ่งอาชีพ)

2006–2007 บิลเบา แอธเลติก (ชุดบีของบิลเบา)

2009–2011 บิลเบา แอธเลติก (ชุดบีของบิลเบา)

2011 อลาเบส

2013–2018 สเปน ยู-19

2018–2022 สเปน ยู-21

2021 สเปน โอลิมปิก

ดังจะเห็นว่า งานใหญ่กับสโมสรชั้นนำ ไม่เคยตกถึงมือเขามาก่อน ส่วนเกียรติยศสูงสุดที่เคยได้ ก็คือเหรียญเงินโอลิมปิก ที่เขานำ สเปน ไปแพ้ บราซิล 1-2 ในนัดชิงชนะเลิศ โตเกียว เกมส์

ไม่ต้องสงสัย เหตุผลสำคัญสุดที่ทำให้เขาได้งานนี้ ก็เพราะเรื่องของ "สายสัมพันธ์" การที่เขาคุมทีมชุดเยาวชน ขลุกอยู่กับนักเตะเด็กกระทิงน้อยมาในตลอดทศวรรษหลัง นั่นเอง

ที่จริง การขาดประสบการณ์งานใหญ่ อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่มากมายนัก เมื่อมีตัวอย่างให้เห็นแล้วกับราย ลิโอเนล สคาโลนี่ ที่เพิ่งพา อาร์เจนติน่า ขึ้นบัลลังก์แชมป์โลกมาแหมบๆ

แต่มันก็ยังน่าตั้งคำถามกับฝีมือของลุงเหน่ง เด ลา ฟวนเต้ อยู่ดี จากผลที่แสนจะแตกต่างของเกมแรกกับเกมสอง คัดยูโรเที่ยวนี้

1) ใช้มาตรฐานอะไรในการเลือกนักเตะ

ทำไม ดาบิด เด เคอา (32) ยังคงไม่มีพื้นที่ในทีมชาติ หรือ มาร์โก อเซนซิโอ, ติอาโก้ อัลกันตาร่า, โกเก้, เปา ตอร์เรส, เอริก การ์เซีย ไม่ถูกเรียกตัว และเสี่ยงเกินไปไหมในการเปิดที่ทางให้ตัวอ่อนประสบการณ์ทีมชาติอย่าง เปโดร ปอร์โร่, ดาบิด การ์เซีย, มิเกล เมริโน่, ดานี่ เซบายอส, มาร์ติน ซูบิเมนดี้, เยเรมี่ ปิโน่, บอร์ฆา อิเกลเซียส, นิโก้ วิลเลี่ยมส์, โฆเซลู เข้ามาติดทีมเต็มไปหมด

2) เปลี่ยนทีมปุบปับเยอะไปไหม

เกมกับนอร์เวย์ 11 คนแรกของสเปนมี เคปา - อเลฮานโดร บัลเด้, อายเมริก ลาป๊อร์กต์, นาโช่ เฟร์นานเดซ, ดานี่ การ์บาฆัล - มิเกล เมริโน่, โรดรี้ - กาบี, ยาโก้ อัสปาส, ดานี่ โอลโม่ - อัลบาโร่ โมราต้า

ส่วนเกมสองกับสกอตแลนด์ มีการเปลี่ยนไลน์อัพกระจายถึง 8 ตำแหน่ง โดยมี เคปา - โฆเซ่ กาย่า, อินยิโก้ มาร์ติเนซ, ดาบิด การ์เซีย, เปโดร ปอร์โร่ - มิเกล เมริโน่, โรดรี้, ดานี่ เซบายอส - มิเกล โอยาร์ซาบัล, โฆเซลู, เยเรมี่ ปิโน่

ทั้งการเลือกทีม การจัดทีม จนถึงการเปลี่ยนผู้เล่นระหว่างเกม ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นคำถามติดค้างต้องสงสัย

และเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้วที่จะถูกตั้งข้อสังเกตว่า ที่แพ้ ก็เพราะปรับทีมเยอะเกินเหตุ นี่เอง

Luis de la Fuente
Scotland v Spain: Group A - UEFA EURO 2024 Qualifying Round / Ian MacNicol/GettyImages

คัดยูโร ไม่ง่ายอย่างที่คิด

สองนัดผ่านไปด้วยการมี 3 แต้ม ชนะ 1 แพ้ 1 อาจไม่ได้เลวร้ายเมื่อเส้นทางคัดเลือกเพิ่งเริ่มต้น แต่ก็น่าเป็นห่วงอยู่ไม่น้อยกับอนาคตที่รออยู่

กลางปีนี้ สเปน จะลงเล่นรอบชิงแชมป์ ยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก พบกับ อิตาลี ในรอบตัดเชือก นี่คือบททดสอบที่ดีเลยว่าการเจอของแข็งๆ ทัดเทียมๆ กัน จะได้ผลออกหน้าไหน

ส่วนในเดือน ก.ย. - ต.ค. - พ.ย. สเปน จะต้องเคลียร์เควสต์คัดยูโรที่เหลือ โดยต้องพบกับ จอร์เจีย ของตัวอันตราย ควิช่า ควารัตสเคเลีย, ออกไปเยือน นอร์เวย์ ที่อาจมี ฮาแลนด์ เข้าทำ, แก้มือกับ สกอตแลนด์ และเหย้าเยือนกับ ไซปรัส

ก็คงมีแค่ 2 นัดกับ ไซปรัส เท่านั้นที่มีการันตี 6 แต้มเต็ม

นอกนั้น ไม่แน่ไม่นอนเลยว่า สเปน จะผ่านได้หมด

เกิดจับพลัดจับผลู หลุดจากการเป็น 2 อันดับแรก ต้องไปลุ้นต่อสองกับรอบเพลย์ออฟขึ้นมา ใครจะรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น!

Scott McTominay
Scotland v Spain: Group A - UEFA EURO 2024 Qualifying Round / Ian MacNicol/GettyImages

อินทรีเหล็ก กับปัญหาที่เห็นชัด

สลับมาดูทางฝั่ง เยอรมนี กันบ้าง ซึ่งผลที่ออกมาก็คล้ายๆ กับทาง สเปน พอสมควร สำหรับคิวลงเล่นเกม "ลับแข้ง" อย่างต่อเนื่อง ไม่มีเกมคัดยูโรอย่างใครเขา ด้วยเพราะเป็นชาติเจ้าภาพนั่นเอง

เกมแรก (25 มี.ค.) เยอรมนี ผ่านงานเบาอย่าง เปรู ง่ายๆ นิคลาส ฟุลล์ครุก เหมาซัดสองเม็ด

แต่พอเกมสอง (28 มี.ค.) เมื่อต้องเจอของแข็งอย่าง เบลเยียม เข้าหน่อย อินทรีเหล็กก็ปีกหักทันที - โดน ยานนิค การ์รัสโก้ กับ โรเมลู ลูกากู ยิงฉีก 2-0 ตั้งแต่สิบนาทีแรก จากนั้นแม้ ฟุลล์ครุก จะกดจุดโทษไล่มาปลายครึ่งแรก ก็ยังมาโดน เควิน เดอ บรอยน์ ปิดสกอร์ 3-1 ท้ายเกม ก่อนที่ แซร์จ นาบรี้ จะยิงบีบเป็น 2-3 แต่ก็เลี่ยงความพ่ายแพ้คาบ้านไม่สำเร็จ

อย่างที่ได้เกริ่นไปแล้วในตอน "8 ชาติแถวหน้ากับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่" ว่าสิ่งที่น่าเป็นกังวลของ เยอรมนี ชุดนี้ ดูจะอยู่ที่เกมรับ กับชื่อเซนเตอร์แบ็กที่ไม่ค่อยจะติดเกรดเท่าไหร่อย่าง ติโล เคห์เรอร์, มัทธีอัส กินเทอร์ หรือ นิโก้ ชล็อตเตอร์เบ็ค ในขณะที่ตัวดีมีดีกรีอย่าง อันโตนิโอ รูดิเกอร์ กลับไม่ถูกเรียกมาติดทีมชุดนี้

ก็นี่ไง แค่สิบนาทีแรก คู่เซนเตอร์ เคห์เรอร์ - กินเทอร์ ก็โดน เบลเยียม เล่นงานจนเสียแล้ว 2 ตุง แถมว่า มาร์ก อันเดร แตร์ ชเตเก้น ก็ไม่ได้อยู่ในฟอร์มที่ดีที่สุด ที่จะช่วยป้องกันอะไรได้มากอีก

หลังรั่ว รุกก็ไม่ได้ร้อนแรงนัก จนแอบคิดถึงตัวเด็ดๆ อย่าง จามาล มูเซียล่า, เลรอย ซาเน่ หรือ โธมัส มุลเลอร์ (หรือ ไค ฮาแวร์ตซ์ ที่ถอนตัวเพราะป่วยไข้) ที่ไม่อยู่ในทีมชุดนี้ ไม่ได้

คำถามคือ แล้วทางแก้ จะไปยังไงดี

ไม่มีคำตอบ ณ ตอนนี้ แต่คงต้องจับตาดูกันไปยาวๆ

Serge Gnabry
Germany v Belgium - International Friendly / Marvin Ibo Guengoer - GES Sportfoto/GettyImages

เจ้าภาพ ไม่มีการันตีแชมป์ยูโร

อีกสิ่งที่ เยอรมนี ต้องพึงสำเหนียก คือ การเป็นเจ้าภาพจัด ยูโร รอบสุดท้าย ไม่ได้การันตีว่าพวกเขาจะประสบความสำเร็จ เมื่อทัวร์นาเมนต์มาถึง

พลิกพงศาวดาร ยูโร 16 ครั้ง ปรากฏว่ามีเพียง "สามครั้ง" เท่านั้นที่เจ้าภาพได้แชมป์

สามครั้งนั้นคือ สเปน 1964, อิตาลี 1968 และ ฝรั่งเศส 1984

ยังหมายถึงว่า 9 ทัวร์นาเมนต์หลัง เจ้าภาพไม่ได้แชมป์ทั้งหมด

1988 เจ้าภาพ เยอรมนีตะวันตก / แชมป์ เนเธอร์แลนด์

1992 เจ้าภาพ สวีเดน / แชมป์ เดนมาร์ก

1996 เจ้าภาพ อังกฤษ / แชมป์ เยอรมนี

2000 เจ้าภาพ เบลเยียม-เนเธอร์แลนด์ / แชมป์ ฝรั่งเศส

2004 เจ้าภาพ โปรตุเกส / แชมป์ กรีซ

2008 เจ้าภาพ ออสเตรีย-สวิตเซอร์แลนด์ / แชมป์ สเปน

2012 เจ้าภาพ โปแลนด์-ยูเครน / แชมป์ สเปน

2016 เจ้าภาพ ฝรั่งเศส / แชมป์ โปรตุเกส

2020 เจ้าภาพ ทวีปยุโรป / แชมป์ อิตาลี

ที่จริง อะไรเหล่านี้ก็อาจเป็นแค่เรื่องบังเอิญ ไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง เพียงแต่มันก็คือข้อเท็จจริง เกิดขึ้นจริงๆ นั่นแหละ

ปัจจัยหนึ่ง อาจอยู่ที่ว่า เจ้าภาพ จะไม่มีคิวลงเตะเกมจริงจัง เกมคัดเลือกที่ต้องเล่นแบบเน้นผล เกมที่ใส่กันแบบซีเรียสเพื่อให้ได้ไปต่อ เหมือนอย่างคู่แข่งรายอื่นที่ต้องผ่านรอบคัดเลือก

สำหรับ เยอรมนี ของ ฮันซี่ ฟลิค เมื่อพ้นจากเกมแพ้ เบลเยียม นี่แล้ว ก็ยังไม่ได้วางคิวลงบันทึกไว้เลยว่า จะเตะกับใครเป็นนัดถัดไป ที่ไหนและเมื่อไหร่

เพราะฉะนั้น การได้สิทธิ์เป็นเจ้าภาพยูโร จึงไม่ได้แปรผันเป็นสมการอันใดเลยว่า เยอรมนี จะประสบความสำเร็จแน่ๆ ดีไม่ดีอาจเป็นเหมือนเข็มเล่มเล็กๆ ที่คอยทิ่มแทงพวกเขาอย่างไม่ให้ได้รู้ตัว ก็เป็นได้

ยิ่งเมื่อบวกกับฟอร์มการเล่นและปัญหาที่มองเห็นในทีมแล้วนั้น

คงพูดได้ ณ ตอนนี้ว่า เยอรมนี (และ สเปน ก็ด้วย) น่าเป็นห่วงใช่ย่อย...

Leon Goretzka, Niclas Fuellkrug
Germany v Belgium - International Friendly / Alex Grimm/GettyImages