“Trust the process” การหว่านพืช ที่ต้องหวังผลของ อาร์เซนอล - FEATURE

• อาร์เซนอล ประสบความสำเร็จครั้งล่าสุดคือแชมป์ เอฟเอ คัพ 2020

• พวกเขาได้แชมป์พรีเมียร์ ลีก ครั้งล่าสุดในปี 2004

• แชมป์ระดับยุโรปหนล่าสุดเกิดขึ้นในปี 1994 กับแชมป์ คัพ วินเนอร์ส คัพ
Arsenal FC v FC Porto: Round of 16 Second Leg - UEFA Champions League 2023/24
Arsenal FC v FC Porto: Round of 16 Second Leg - UEFA Champions League 2023/24 / Marc Atkins/GettyImages
facebooktwitterreddit

อาร์เซนอล กำลังอยู่ในเส้นทางสำคัญสำหรับการลุ้นแชมป์พรีเมียร์ ลีก และการไปให้ไกลที่สุดกับแชมเปี้ยนส์ ลีก ในช่วงประมาณ 2 เดือนที่เหลือนับจากนี้

พรีเมียร์ ลีก 10 เกมสุดท้าย แชมเปี้ยนส์ ลีก มีให้เล่นในรอบ 8 ทีมอีก 2 เกม และหากเข้ารอบก็จะเพิ่มอีก 2 เกม รวมสูงสุดถ้าเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศแชมเปี้ยนส์ ลีก พวกเขามีโอกาสลงเล่นทั้งหมด 15 เกมด้วยกัน

อย่างไรก็ตามหลังผ่านเกมสุดทรหดกับ เอฟซี ปอร์โต้ มาได้แล้ว พวกเขาจะได้พักยาวจากการที่ เชลซี ต้องเล่นในเอฟเอ คัพ สุดสัปดาห์นี้ ทำให้เกมที่จะพบกันต้องเลื่อนออกไป (ยังไม่กำหนดวันแข่งใหม่) และตามด้วยเกมทีมชาติอีกประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อนจะกลับมาลงเล่นเกมกับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ 31 มีนาคม 2024

เบ็ดเสร็จแล้วทีมจะไม่มีคิวลงเล่นไปตลอด 17 วันนี้ ซึ่งคาดว่าทีมจะมีการสั่งพักการซ้อมสัก 1-2 วันเพื่อให้นักเตะได้พักกันอย่างเต็มที่ ก่อนจะกลับมาทำงานกันต่อไป รวมถึงกลุ่มนักเตะที่ต้องไปเล่นทีมชาติ และกลุ่มที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นฟูสภาพร่างกาย

อย่างไรก็ตามสำหรับทีมแล้ว แผนงานยังคงเดินหน้าต่อไป หน้าบ้านอาจได้พัก แต่หลังบ้านก็ทำงานกันตามปกติ และมันเหมาะควรกับการจัดการหลายเรื่อง ช่วงที่นักเตะไม่มีต้องมุ่งสมาธิไปกับการแข่งขันมากนัก โดยเฉพาะเรื่องของสัญญาใหม่ และแผนงานอื่น ๆ ที่จะได้มานั่งคุยกัน

เอดู กาสปาร์ สัมภาษณ์ในช่วงปี 2022 เกี่ยวกับแผนงานของทีมปืนใหญ่ และการทำงานร่วมกับ อาร์เตต้า ซึ่งเขายืนยันว่า เป้าหมายหลักของการเสริมทีมคือการยกระดับคุณภาพของทีม ทำอย่างไรให้ทีมดีขึ้นได้ ภายใต้ความเป็นไปได้ทั้งหมด พวกเขาจะเดินเรื่องทันที ซึ่งผ่านมาแล้ว 2 ตลาดการซื้อขายนับจากวันนั้นแผนงานยังคงไม่เปลี่ยน และในปี 2024 นี้ เอดูก็มีการเผยว่าแผนงานสำหรับตลาดสิงหาคม 2024 ก็พร้อมแล้ว และบางส่วนเดินหน้าต่อไปแล้วด้วย

“Trust the process” กับ 4 ปีครึ่งของมิเคล อาร์เตต้า

2019-2020: จบอันดับ 8 ได้แชมป์เอฟเอ คัพ (อาร์เตต้าเข้ามาคุมทีมธันวาคม 2019)

2020-2021: จบอันดับ 8 ไม่ได้เล่นฟุตบอลยุโรปเป็นครั้งแรกนับจากปี 1995

2021-2022: จบอันดับ 5 ได้เล่นยูโรป้า ลีก

2022-2023: จบด้วยรองแชมป์ ได้กลับไปเล่นยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ครั้งแรกในรอบ 6 ปี

2023-2024: ลุ้นแชมป์พรีเมียร์ ลีก เต็มตัว และพาทีมอยู่ในเส้นทาง 8 ทีมสุดท้ายแชมเปี้ยนส์ ลีก

อาร์เซนอล ได้รับการระบุว่าการเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายแชมเปี้ยนส์ ลีก ส่งผลให้พวกเขาจะได้เงินเข้าสโมสรรวมแล้วเกือบ 90 ล้านยูโร (นับเงินรางวัล และค่าลิขสิทธิ์ต่าง ๆ แล้ว) ซึ่งจะมากยิ่งกว่านี้อีกตามการเข้ารอบในทุกก้าวของสโมสร นั่นทำให้การวางแผนการเงินมีความชัดเจนมากขึ้น ยิ่งทำงานง่ายส่วนนี้ทั้งพาร์ทจะเกิดขึ้นในช่วงปิดตลาดการซื้อขายรอบต่อไป

อาร์เซนอล เลือกผู้เล่นด้วยหลักการตามที่เคยเขียนไปเมื่อสองปีก่อน มาดูกันว่าพวกเขามาถึงตรงจุดไหนกันบ้างแล้ว

Declan Rice, Kai Havertz
Burnley FC v Arsenal FC - Premier League / Harriet Lander/Copa/GettyImages

อายุน้อยร้อยล้าน

ทางเลือกหลักของพวกเขาอยากได้นักเตะอายุไม่เกิน 25 ปี เข้ามาเสริมทีม เพราะมองว่านักเตะสามารถพัฒนาได้กับผลงานในสนาม และหากผลงานดีก็ยิ่งสามารถสร้างมูลค่านักเตะในกรณีที่ขายออกไป ยังไม่ร่วมถึงเรื่องทางการตลาด อย่างไรก็ตามส่วนนี้มีการ “ยืดหยุ่น” พอสมควร จากสถานการณ์หน้างาน ตัวอย่างเช่นในตลาดมกราคม 2023 อาร์เซนอล ล้มเหลวในการดีล มิไฮโล มูดริค (23 ปี) เข้ามาร่วมทีม พวกเขาก็เลือกทางเลือกรองอย่าง เลอันโดร ทรอตซาร์ (29 ปี) เข้ามาร่วมงานด้วย ซึ่งก็ทำผลงานได้ดี และมีราคาในการซื้อขายที่ถูกกว่าหลายเท่าตัว ขณะที่การเซ็นสัญญา จอร์จินโญ่ (32 ปี) ก็ชัดเจนว่าเป็นการเสริมประสบการณ์ของผู้เล่นในทีมให้มากขึ้น ก่อนที่ตลาดในฤดูกาล 2023-2024 ทุกดีลกลับมาทำงานตามแนวคิดนี้ทั้ง ดีแคลน ไรซ์ (25), ไค ฮาแวตซ์ (24), ยูเรี่ยน ทิมเบอร์ (22) ขณะที่ตำแหน่งนายทวาร ดาบิด ราย่า (28) เป็นตำแหน่งเดียวที่ มิเคล อาร์เตต้า ต้องการผู้เล่นที่มีประสบการณ์สูงเข้ามาร่วมงานด้วย และตำแหน่งเดียวกันนี้ เขาจะขอคำแนะนำของ อินากิ กาน่า โค้ชผู้รักษาประตูในการช่วยคัดเลือกตำแหน่งนี้

ความสามารถและความเข้ากันได้กับทีม

แน่นอนเรื่องนี้สำคัญที่สุด เอดู กาสปาร์ ในฐานะของผู้อำนวยการกีฬาของสโมสร ทำงานร่วมกับ มิเคล อาร์เตต้า ผู้จัดการทีม และ “ผู้ใช้งาน” นักเตะโดยตรง + กับทีมงานแมวมอง และฐานข้อมูลของ STATDNA ที่พวกเขาซื้อมาใช้งานในปี 2012 นำมารวมกัน ในการคัดเลือกนักเตะร่วมกันในแต่ละตำแหน่งว่าใครคือ “ทางเลือก” ที่พวกเขาอยากได้ตัว ดีลของ ดีแคลน ไรซ์ 105 ล้านปอนด์ เป็นตัวอย่างที่ดีมากในหัวข้อนี้ เมื่อมั่นใจว่า “ไรซ์” คือทางเลือกที่ดีที่สุดกับทีม และเป็นไปได้ที่จะเซ็นสัญญามาได้ พวกเขาก็จะทำให้ถึงที่สุด และสุดท้ายพวกเขาก็สมหวัง ไรซ์ ทำผลงานที่ทำให้การย้ายทีมของเขากลายเป็นดีลแพงที่ไม่แพงอีกเลย และถึงตรงนี้ 65 ล้านปอนด์ ของ ไค ฮาแวตซ์ ก็ดูจะไม่แพงอีกแล้ว เมื่อเทียบกับวันแรกที่ย้ายเข้ามาแล้วถูกตั้งคำถามมากมายว่า เขาจะทำได้ดีจริงหรือ หลังจากไม่ค่อยเวิร์คเท่าไรนักกับเชลซี

FBL-EUR-C1-ARSENAL-PORTO
FBL-EUR-C1-ARSENAL-PORTO / ADRIAN DENNIS/GettyImages

ราคาค่าตัว

ตรงนี้เป็น “เหตุ” สำคัญในการทำไมทุกสโมสรถึงอยากเล่นแชมเปี้ยนส์ ลีก และทำไมหลายทีมถึงขอให้ตัวเองรอดจากการตกชั้น เพราะรายได้จากพรีเมียร์ ลีก นับว่าสูงมากที่สุดในยุโรป เช่นเดียวกับที่ว่าหากคุณได้เล่นแชมเปี้ยนส์ ลีก มันก็การันตีหลายสิบล้านยูโรไว้คอยท่าแล้ว เมื่อเงินรายได้มากขึ้น ค่าตัวนักเตะก็ไต่ระดับความแพงมากขึ้นเรื่อย ๆ ราคาเป็นเรื่องของความพอใจ + อายุสัญญา ประกอบกัน เป็นหลักการที่เข้าใจไม่ยากนัก

“ถูกใจไม่มีคำว่าแพง” เป็นวลีที่ไม่ถูกต้องนักในความเห็นของผู้เขียน แต่มันคือการลงทุนครั้งใหญ่ที่คิดว่าคุ้มค่าต่างหาก High Risk High Return ใช้ได้เสมอกับทุกการลงทุน เรื่องนักเตะก็เช่นเดียวกัน ดีลของ มิไฮโล มูดริค ที่ล้มเหลวกับการพลาดตัว, ดีแคลน ไรซ์ ที่กลายเป็นกำลังหลัก หรืออาจจะรวมถึง ยาคุบ คิวิออร์ ที่จ่ายไป 25 ล้านยูโร ให้กับ สเปเซีย ความคุ้มค่าตอบด้วยได้ด้วยผลงาน แต่มันซับซ้อนกว่านั้น เพราะเมื่อยิ่งค่าตัวแพงการตัดสินของแต่ละบุคคล มีจำนวนไม่น้อยตัดสินกันด้วยความรู้สึก และภาพจำ

ทั้งหมดนี้จะอยู่ในกระบวนการตัดสินใจในการเลือกเซ็นสัญญานักเตะสักคนเข้ามาร่วมงาน

Josh Kroenke
Arsenal FC v FC Porto: Round of 16 Second Leg - UEFA Champions League 2023/24 / Robbie Jay Barratt - AMA/GettyImages

การต่อสัญญาใหม่กับตัวหลัก

เป็นหนึ่งในส่วนที่อยู่ในแผนงานกันมาตลอดนับแต่ตั้งความล้มเหลวในฤดูกาล 2020-2021 การเข้ามาของ จอช โครเอนเก้ ที่ลงมาดูงานอาร์เซนอลแบบเต็มตัว หลังจากเป็นเพียงผู้บริหารโดยตำแหน่งไม่มีอำนาจในการตัดสินใจมาหลายปี มี ทิม ลูอิส ทนายความและที่ปรึกษาของ สแตน โครเอนเก้ เวลามาทำงานในยุโรป คอยมาดูแลเรื่องเงิน และให้คำปรึกษาต่าง ๆ การลงเงินซื้อนักเตะทะลุหลัก 500 ล้านปอนด์ในช่วง 3 ฤดูกลที่ผ่านมาจึงเกิดขึ้น

อีกด้านหนึ่ง อาร์เซนอล เดินเส้นทางการสร้างทีมใหม่หมด นอกจากการซื้อที่ใช้คำว่า “ขายฝัน” ไปกับผู้เล่นใหม่ เหล่าผู้เล่นเดิมถ้าดีพอก็จะได้รับการปรับปรุงสัญญาใหม่ ถ้าไม่ผ่านก็พร้อมปล่อยออกจากทีม การเซ็นสัญญา มาร์ติน เออเดการ์ด - กาเบรียล มากัญเยส ในช่วง สิงหาคม 2020-มกราคม 2021 เป็นหนึ่งในจุดตั้งต้นสำคัญมากของทีม เพราะถึงตรงนี้พวกเขาสองคนคือหัวใจของกองกลางและแนวรับของทีม ขณะที่ กาเบรียล มาร์ติเนลลี่ และ บูคาโย่ ซาก้า ที่ได้รับโอกาสมาตั้งแต่ยุคของ อูไน อเมรี่ ก็เริ่มผลิบานเต็มตัว และกลายเป็นแกนหลักสำคัญของทีมมานับจากนั้นเป็นต้นมา เช่นเดียวกับ วิลเลี่ยม ซาลิบา จากคำถามว่าจะดีพอหรือไม่หลังโดนปล่อยยืมไปถึงสามสโมสรก่อนหน้านี้ กลายมาเป็นตัวหลักของทีมที่ขาดไม่ได้ในฤดูกาลที่แล้ว รวมถึง อารอน แรมสเดล ที่กำลังอยู่ในช่วงที่ยากลำบากในปีนี้ ก็มีสองปีที่น่าตื่นเต้นกับทีม

William Saliba
Arsenal FC v FC Porto: Round of 16 Second Leg - UEFA Champions League 2023/24 / Robbie Jay Barratt - AMA/GettyImages

ข่าวการต่อสัญญาใหม่ของผู้เล่นที่ “รันคิว” กันมาตั้งแต่ ตุลาคม 2022 ไล่ต่อสัญญากันมาตั้งแต่ กาเบรียล (ย้ายมาสิงหาคม 2020) มาจนถึงล่าสุด เบน ไวท์ และ ทาเคฮิโระ โทมิยาสุ ที่กำลังจะปิดดีลสัญญาใหม่ กลายเป็นว่า อาร์เซนอล ต่อสัญญานักเตะหลักได้ถึง 8 คน ซึ่งทั้งหมดมีถึง 7 ที่เป็น 11 ตัวจริง (ยกเว้นแรมสเดล)

เมื่อบวกกับนักเตะใหม่ที่เซ็นสัญญากันเข้ามาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา นับจาก 2021-2022 อาร์เซนอล กับทีมการตลาดซื้อขาย แทบ “ไม่พลาด” เลยกับการเซ็นสัญญานักเตะใหม่และได้ผลงานที่น่าพอใจ อาจจะมีบ้างที่ผิดพลาด แต่เมื่อเทียบกับที่สำเร็จก็ต้องบอกว่าทำได้ดีมาก

Ethan Nwaneri
West Ham United v Arsenal FC - Premier League / Visionhaus/GettyImages

การผลักดัน “ดาวรุ่ง”

ผ่านไป 4 ปี มิเคล อาร์เตต้า กับการทำงานส่วนนี้ เขายังไม่สามารถบอกได้เต็มปากว่าเป็น “สายดัน” แบบที่ อาร์แซน เวนเกอร์ เคยทำมาก่อน ด้วยว่าระบบแผนงานของทีมที่เน้นนักเตะอายุน้อยเข้ามาเสริมทีม และช่วงเวลาของทีมที่กำลัง “ไต่อันดับ” ไปสู่เป้าหมายเรื่องความสำเร็จ มันไม่เหมือนเอื้อให้กับเขามากนักในเรื่องนี้

หากคุณมี บูคาโย่ ซาก้า, กาเบรียล มาร์ติเนลลี่, วิลเลี่ยม ซาลิบา ที่ทั้งหมดอายุเพียง 22 ปี และมีแกนหลักในกองกลางอย่าง มาร์ติน เออเดการ์ด และ ดีแคลน ไรซ์ อายุยังไม่ถึง 26 ปี ทั้งสองคน มันก็คงพูดยากเหมือนกันว่า พวกนี้อายุมากจนต้องดันเด็กขึ้นมา เพราะพวกเขาเหล่านี้ก็เด็กมากหากมองถึงตัวเลขอายุ

ส่วนผสมของทีมในปี 2024 จึงมีทั้งดาวรุ่งที่ไม่ใช่ดาวรุ่งอีกแล้วในเรื่องของประสบการณ์ และนักเตะอายุมากที่ประสบการณ์มากมายอยู่ในทีม ที่ว่างของดาวรุ่งอายุน้อย ประสบการณ์น้อย จึงจบด้วยการติดทีมขึ้นมาบ้างในบางเกม ได้รับโอกาสในบ้างในบอลถ้วย ซึ่งในช่วงที่เหลือของฤดูกาลนี้ จะไม่ได้เห็นพวกเขาอีกแล้ว จากช่วงเวลาแห่งการชี้เป็นชี้ตายว่าปีนี้ อาร์เซนอล จะมือเปล่าหรือมีอะไรติดมือในวันสุดท้ายของฤดูกาลนี้

ผู้เขียนมักกล่าวเสมอว่า ฟุตบอล คือทำงานด้วยกัน เชื่อมั่นในกันและกัน และรอรับผลลัพธ์ที่ออกมาด้วยกัน เพราะนี่คือ “ทีมเดียวกัน”

ติดตามกันต่อไปครับว่าปีนี้ “งานกลุ่ม” รอบนี้จะจบลงอย่างไร