ปลอกแขนสีรุ้ง: 5 ประเด็นเกี่ยวกับแคมเปญการสนับสนุน LGBTQ+ ในวงการฟุตบอล

  • การแข่งขันพรีเมียร์ลีกในเวลานี้คุณจะสังเกตเห็นว่า ปลอกแขนกัปตันทีมมีการเปลี่ยนมาใช้สีรุ้งกัน
  • สาเหตุเพราะมันคือแคมเปญเกี่ยวกับการสนับสนุน LGBTQ+ ในวงการกีฬานั่นเอง
  • มาร์ค เกฮี และ แซม มอร์ซี่ ตกเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงเกี่ยวกับการแสดงออกแคมเปญ LGBTQ+
Ipswich Town FC v Crystal Palace FC - Premier League
Ipswich Town FC v Crystal Palace FC - Premier League / Shaun Botterill/GettyImages
facebooktwitterreddit

การแข่งขันพรีเมียร์ลีกในเวลานี้คุณจะสังเกตเห็นว่า ปลอกแขนกัปตันทีมมีการเปลี่ยนมาใช้สีรุ้งกัน สาเหตุเพราะมันคือแคมเปญเกี่ยวกับการสนับสนุน LGBTQ+ ในวงการกีฬานั่นเอง

อย่างไรก็ตามแคมเปญนี้ก็ไปกระทบกับคนบางกลุ่ม หรือเกิดการแสดงออกควบคู่จนเป็นประเด็นเช่นกัน ดังตัวอย่างของ แซม มอร์ซี่ และ มาร์ค เกฮี

ต่อไปนี้คือ 5 ประเด็นที่เราจะพูดถึงกัน

กัปตันทีมจำเป็นต้องสวมปลอกแขนสีรุ้งหรือไม่?

Virgil van Dijk
Newcastle United FC v Liverpool FC - Premier League / Justin Setterfield/GettyImages

คำตอบง่าย ๆ คือ ไม่ ปลอกแขนและอุปกรณ์ 'สีรุ้ง' ต่าง ๆ จัดหาโดยพรีเมียร์ลีก และสโมสรเอง โดยได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการมีส่วนร่วมในแคมเปญที่เปิดตัวขึ้นเพื่อแสดงการสนับสนุนสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ ของนักฟุตบอล และเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมและความหลากหลาย

กัปตันไม่จำเป็นต้องสวมปลอกแขนสีรุ้ง แต่สามารถสวมแบบมาตรฐานตามปกติได้เลย


ทำไม มาร์ค เกฮี ถึงได้รับหนังสือเตือนจากเอฟเอ?

Marc Guehi
Ipswich Town FC v Crystal Palace FC - Premier League / Julian Finney/GettyImages

มาร์ค เกฮี โดนหนังสือเตือนตั้งแต่เกมที่ คริสตัล พาเลซ เปิดบ้านเสมอ นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด 1-1 เมื่อวันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เนื่องจากเขาเขียนข้อความ "I LOVE JESUS"

แม้ว่าเขาจะโดนเตือนว่านั่นเป็นการละเมิดกฎ แต่ เกฮี ก็กลับเขียนว่า "JESUS LOVE YOU" ไว้บนปลอกแขนสีรุ้งในเกมถัดมาที่เจอกับ อิปสวิช ทาวน์

แม้ว่ากองหลังชาวอังกฤษจะโดนชุมชน LGBTQ+ วิจารณ์เรื่องการเขียนข้อความรักพระเยซูลงปลอกแขนสีรุ้ง แต่ทาง พรีเมียร์ลีก เพียงตักเตือนเท่านั้น ไม่ได้ออกบทลงโทษกับตัวเขาแต่อย่างใด แม้ว่าเขาจะทำผิดกฎของ IFAB ก็ตาม

กฎระบุว่า "ห้ามมีสโลแกนทางการเมือง, ศาสนา หรือส่วนบุคคลบนอุปกรณ์ หากฝ่าฝืนกฎ ผู้เล่นและ/หรือทีมจะถูกลงโทษโดยผู้จัดการแข่งขัน, สมาคมฟุตบอลแห่งชาติ หรือฟีฟ่า"


ทำไม แซม มอร์ซี่ ถึงปฏิเสธสวมปลอกแขนสีรุ้ง?

Sam Morsy
Ipswich Town FC v Crystal Palace FC - Premier League / Shaun Botterill/GettyImages

กัปตันทีม อิปสวิช ทาวน์ เลือกที่จะไม่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการตัดสินใจไม่สวมปลอกแขนสีรุ้ง แต่ในแถลงการณ์ของสโมสรระบุว่า ดาวเตะทีมชาติอียิปต์วัย 33 ปี ซึ่งเป็นมุสลิม ตัดสินใจโดยยึดตามความเชื่อทางศาสนาของเขา

"อิปสวิช ขอยืนยันว่าเป็นสโมสรที่พร้อมต้อนรับทุกคน เราภูมิใจที่จะสนับสนุนแคมเปญ Rainbow Laces ของพรีเมียร์ลีก และยืนหยัดเคียงข้างชุมชน LGBTQ+" แถลงการณ์ของอิปสวิชระบุ

"ภายใต้แคมเปญนี้ในปีนี้ สมาชิกในทีมชุดใหญ่ของเราทั้งทีมชายและทีมหญิงเดินทางไปเยี่ยมมูลนิธิความหลากหลายทางเพศของเราเป็นประจำทุกสัปดาห์"

"ขณะเดียวกันเราเคารพการตัดสินใจของกัปตันทีม แซม มอร์ซี่ ซึ่งเลือกที่จะไม่สวมปลอกแขนสีรุ้งตามความเชื่อทางศาสนาของเขา"

สมาคมฟุตบอลไม่สามารถดำเนินการลงโทษ มอร์ซี่ แม้ว่ากัปตันอีก 19 ทีมที่เหลือในพรีเมียร์ลีกจะยอมสวมปลอกแขนสีรุ้งก็ตาม แต่เนื่องจากพวกเขาไม่ได้บังคับแต่แรกอยู่แล้ว

เรื่องของ มอร์ซี่ คล้ายกับของ นุสแซร์ มาซราวี ที่ปัดสวมแจ็คเก็ตของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งมีสัญลักษณ์ LGBTQ+ เนื่องจากมันขัดต่อศาสนาอิสลามที่เขานับถือเช่นกัน แล้วสโมสรเองก็สนับสนุนโดยจะไม่สวมมันก่อนแข่งด้วย


มีการปรึกษาหารือกับผู้เล่นเกี่ยวกับปลอกแขนหรือไม่?

Bruno Fernandes
Arsenal FC v Manchester United FC - Premier League / Shaun Botterill/GettyImages

แม้ว่าการตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าผู้เล่นจะใส่หรือไม่ใส่ชุดใดนั้นขึ้นอยู่กับนักเตะ แต่ขอบเขตของการปรึกษาหารือก่อนเกิดแคมเปญนี้ไม่ได้ใหญ่โตนัก

ตัวแทนสหภาพนักเตะของสโมสรจะได้รับแจ้ง แต่โดยทั่วไปแล้ว นักเตะจะได้รับรายละเอียดสั้น ๆ เกี่ยวกับแคมเปญนั้น ๆ และคาดหวังให้เข้าร่วม

ผู้เล่นและผู้จัดการทีมที่สวมสัญลักษณ์ของแคมเปญอื่น ๆ เช่น การต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติและการรณรงค์เพื่อเพิ่มความตระหนักด้านสุขภาพ เป็นต้น


ประเด็นของ เกฮี และ มอร์ซี จะทำให้ทางการต้องพิจารณาทบทวนใหม่หรือไม่?

Marc Guehi, Sam Morsy
Ipswich Town FC v Crystal Palace FC - Premier League / Shaun Botterill/GettyImages

ไม่เลย แต่อาจมีบางคนในฟีฟ่าตั้งคำถามเกี่ยวกับความผ่อนปรนของ เอฟเอ ในเคสของ เกฮี

อย่างไรก็ตามในเคสของ มอร์ซี่ นั้นละเอียดอ่อน เพราะก่อนหน้านี้ในลีกฝรั่งเศสนักเตะหลายคนที่ปฏิเสธสวมเสื้อที่มีสัญลักษณ์ LGBTQ+ กลับถูกสโมสรสั่งแบน เช่น โมฮาเหม็ด กามาร่า (อาแอส โมนาโก), ซาคาเรีย อาบูคลัล, มุสซ่า ดิยาร์ร่า และ ซาอิด ฮามูลิช (ตูลูส)

ส่วนในรายของ อิดริสซ่า เกย์ ที่เคยเล่นให้ ปารีส แซงต์-แชร์กแมง แม้เคยไม่โดนลงโทษที่ไม่ยอมสวมเสื้อสนับสนุน แต่ก็ถูกสังคมที่นั่นประณามไม่น้อยเลย เพราะงั้นต้องมาดูกันว่า พรีเมียร์ลีก จะมีแผนอย่างไรในอนาคต